ไฟเขียว! ครม. มีมติเห็นชอบ ‘พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์’ ขึ้นแท่น รับตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คนใหม่
วันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในวันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตามที่ สมช.เสนอมา
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบเสนอชื่อ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็นเลขาธิการ สมช. คนใหม่ ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง ก่อนเสนอเข้าครม.ในวันนี้
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ
1 นายกรัฐมนตรี ประธาน
2 รองนายกรัฐมนตรี รองประธาน
3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมาชิก
4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมาชิก
5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาชิก
6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมาชิก
7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สมาชิก
8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิก
9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิก
10 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิก
11 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกและเลขานุการ
ซึ่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสำนักงาน โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาความมั่นคงเเห่งชาติเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ประวัติ พล.ต.อ.รอย
พลตำรวจเอกรอย มีชื่อเล่นว่า รอย เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2507 จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 24 (ตท.24) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 40 (นรต.40) และปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต M.P.A มหาวิทยาลัยรามคำแหง
หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พลตำรวจเอกรอยได้เริ่มรับราชการในตำแหน่งรอง สว.ป.2 กก.7 ป., รอง สว.งานนโยบายและแผน ฝ่ายอำนวยการกองตำรวจสันติบาล ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566 เดิมมีกระแสข่าวว่าที่ประชุมมีมติให้เลื่อนวาระการเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่สืบต่อจากพลตํารวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ออกไปเป็นเดือนตุลาคม พร้อมกับมีมติให้พลตํารวจเอกรอยในฐานะรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาวุโสลำดับที่ 1 เป็น รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ในเวลาต่อมามีการเลือกพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งมีอาวุโสเป็นอันดับ 4 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14