กาฬสินธุ์ประชุมด่วน สั่งเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำ 5 อำเภออยู่ติดลำน้ำปาว ลำน้ำพาน และแม่น้ำชี พร้อมเตรียมอพยพทันทีหากเกิดสถานการณ์ หลังเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำระดับสูงถึง 80 % และเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ เพื่อรักษาสภาพเขื่อน ขณะที่ชาวบ้านโวยเทศบาลตำบลหลุบ ปล่อยต้นไม้ล้มขวางถนนนานกว่า 3 วันขาดน้ำดื่ม
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว บ้านเรือนประชาชนเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ใน ต.หลุบ อ.เมือง น้ำจากลำน้ำปาวที่หนุนสูงได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่นาข้าวจำนวนมาก ขณะชาวบ้านช้างอียอ ม.5 ต.หลุบ อ.เมือง ซึ่งระดับน้ำจากลำน้ำปาวได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ทำให้ต้นไม้ล้มขวางถนนไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้นานกว่า 3 วัน ซึ่งชาวบ้านได้แจ้งไปยังเทศบาลตำบลหลุบ ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบแต่ไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการจึงไม่สามารถเข้ามาให้การช่วยเหลือได้ ทำให้ชาวบ้านกว่า 10 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเด็กไม่สามารถออกมาซื้อน้ำดื่มไปบริโภคได้
กระทั่งล่าสุดนายสุวิทย์ คำดี ผ้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้การช่วยเหลือ ด้วยการนำเลื่อยยนต์เข้าตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวน 4 ตันภายในวัดป่าพุทธมงคลที่ล้มทับกุฏิภายในวัดเสียหายจำนวน 3 หลัง และเข้าตัดต้นไม้ที่ล้มขวางถนนเพื่อเปิดทางสัญจรให้กับชาวบ้าน พร้อมนำน้ำดื่มเข้าให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างและจากปริมาณน้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มวลน้ำจำนวนมากกำลังไหลไปรวมกันในพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบกับปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวมีน้ำที่ไหลเข้าอ่าง เพิ่มขึ้นมากกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. และเพียงคืนเดียวมีน้ำไหลเข้าอ่างมากถึง 200 กว่าล้านลบ.ม. เพิ่มระดับสูงขึ้นมากถึง 1,567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่าง จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำปาวขึ้นอีกเป็นวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมระบายวันละ 15 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาสภาพเขื่อนและเตรียมรับน้ำใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีน้ำท่วมอยู่แล้วในพื้นที่ อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ และ อ.ฆ้องชัย ซึ่งอยู่ติดลำน้ำปาว ลำน้ำพาน และแม่น้ำชี จึงทำให้หลายหน่วยงานต้องเตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาในพื้นดังกล่าว
ทั้งนี้สำหรับความเสียหายเบื้องต้นทั้ง 15 อำเภอมีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 60,000 ไร่ และจาการประเมินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกรวมแล้วกว่า 100,000 ไร่