สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่พื้นที่จังหวัดตรังบางจุดยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่พนังกั้นแตกริมแม่น้ำตรัง ระดับน้ำยังคงท่วมสูงเกือบ 1 เมตร
สถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 8 อำเภอใน จ.ตรัง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ยกเว้นที่ ม.1 และ ม.2 ต.หนองตรุด อ.เมืองตรัง กว่า 70 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 30-80 ซม. เนื่องจากเป็นจุดที่พนังกั้นแม่น้ำตรังที่ ม.2 ต.หนองตรุด พังทลายลงมาเป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร และห่างออกไปอีกไม่ถึง 1 กิโลเมตรพนังกั้นน้ำที่ ม.6 ต.บางรัก อ.เมืองตรัง พังลงมาอีก 1 จุดความยาวเกือบ 100 เมตร ทำให้กระแสน้ำยังไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ บางจุดใช้เรือไม่ได้จึงต้องเดินลุยน้ำ
ขณะที่ชาวบ้าน ม.5 ต.บางรัก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในวัดแจ้ง ต.บางรัก วันนี้ได้ทยอยเดินทางกลับเข้าบ้านเพื่อทำวามสะอาดและอยู่อาศัยแล้ว หลังจากที่ไม่ได้กลับเข้าบ้านมานานกว่าครึ่งเดือน ส่วนใหญ่พบว่าบ้านมีรอยแตกร้าว และผุพัง บางรายเริ่มหาซื้อที่นอนหมอนมุ้งและของใช้ที่จำเป็นเข้าบ้าน เพื่อทดแทนของเก่าที่จมน้ำเสียหาย ซึ่งทางจังหวัดตรังประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 3 หมื่นหลังคาเรือนหรือกว่า 8 หมื่นคน อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมรวม 4 ราย
สุราษฎร์ฯ ยังมีน้ำท่วมขัง วัวหลายร้อยตัวขาดแคลนหญ้า

ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่หมู่ 5 ต.ท่าชี อ.บ้านนาสาร เข้ามารับหญ้าแห้งอัดก้อนที่ศาลาประชาคมประจำหมู่บ้าน เพื่อนำไปให้วัวที่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมได้กินประทังชีวิต เนื่องจากพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์และพื้นที่หญ้าปกคลุม มีมวลน้ำหลากล้นแม่น้ำตาปีเข้าท่วมพื้นที่เป็นวงกว้าง ทำให้เกษตรกรต้องย้ายวัวมาอยู่ในที่สูง และต้องหาหญ้าแห้งให้กินแทนหญ้าสดไปก่อน
ซึ่งทางด้าน นายสุเวช ปิ่นทอง สมาชิกสภาเทศบาลตำบลท่าชีประจำหมู่ 5 บอกว่า ในพื้นที่มีวัวเลี้ยงประมาณ 300 ตัว พื้นที่หญ้าถูกน้ำท่วมเกือบหมดทำให้หญ้าไม่เพียงพอจึงต้องหาหญ้าแห้งบรรเทาทุกข์ไปก่อน เมื่อได้หญ้าแห้งจากจังหวัดก็จะจัดสรรให้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวตามอัตราส่วนของวัวที่เลี้ยงในแต่ละราย แบ่งกันให้ทั่วถึงเพื่อนำไปให้วัวกินแค่ประทังในภาวะวิกฤติ บางรายลงทุนซื้อหญ้าแห้งมาด้วยเพื่อให้วัวกินได้เต็มที่ขึ้นแต่ก็ให้กินอย่างประหยัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วัวและผู้เลี้ยงวัวยังต้องได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 เดือนหลังจากน้ำลดเป็นปกติ เพื่อรอหญ้าใหม่งอกขึ้นมาจึงจะสามารถมีหญ้ากินได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง แต่ก่อนจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทางจังหวัดได้กำชับในส่วนที่เกี่ยวข้องจัดสรรหญ้าแห้งให้เกษตรกรให้ครอบคลุมและทั่วถึง
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันฝนหยุดตก ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีลดลงเรื่อย ๆ แต่พื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำยังสูงกว่าระดับวิกฤติ โดยพื้นที่ 41 ตำบลใน 6 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอพระแสง, เวียงสระ, เคียนซา, บ้านนาสาร, บ้านนาเดิม และอำเภอพุนพิน ยังรับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและเฝ้าระวังทรัพย์สินในพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน