ช่วงบ่ายของวันนี้ (23 ส.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Chao Meekhuad” โดยเนื้อหาเกี่ยวกับราคาของไข่ไก่ที่สูงเกินไปอาจส่งผลกระทบประชาชน ความว่า…
“ไข่ไก่” แพง ปัญหาปากท้องที่รัฐบาลควรดูแล
ในยามนี้ทุกคนบ่นกันแต่เรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ย่ำแย่ลงทุกวัน แม้รัฐบาลเพิ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 316,813 ล้านบาท อัดฉีดเข้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นวิธีการเดิม ๆ ที่ทำมาแล้วหลายครั้ง อาจได้ผลในการเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพี แต่ในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้เติบโตตามตัวเลขของจีดีพีแต่อย่างใด
สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำจึงไม่ใช่แค่การแจกเงิน แต่เป็นการลดค่าครองชีพ ทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนแม้จะมีเท่าเดิมแต่สามารถนำมาใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น วันนี้สินค้าที่รัฐบาลควรเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วนคือ “ไข่ไก่” อาหารยามยากของคนจน หลังจากที่ผมทำโครงการ “ไข่ไก่ครัวเรือนละ 30 ฟองเพื่อปากท้องชาวชุมชน” ซึ่งเริ่มทยอยแจกตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ห้วยขวางไปแล้ว ก็พบความจริงว่า ราคาไข่ไก่ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์ม ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 3 บาท/ฟอง(90 บาท/แผง) ตามประกาศสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออก แต่ในขณะนี้ราคาเพิ่มเป็น 3.10 บาท เท่ากับ 93 บาทต่อแผง ซึ่งในส่วนของผู้บริโภคที่ซื้อตามตลาด ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินคา ต้องจ่ายเงินมากขึ้นไปตามลำดับด้วย
จากการศึกษาพบว่าปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านฟอง/ วัน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอดีและเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ที่ให้มีการปลดแม่ไก่ยืนกรงที่ 78 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ปรับสมดุลไข่ไก่ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาไข่ไก่ขยับขึ้นตามลำดับจนไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.10 บาทในปัจจุบัน ดังนั้นภาครัฐจึงควรกลับมาทบทวนมาตรการที่ใช้อยู่ขณะนี้ว่าการเข้มงวดปลดแม่ไก่ยืนกรง ควรคำนึงถึงผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยด้วย ว่าจะมีแม่ไก่ไข่เพียงพอต่อการให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ได้มีเลี้ยงหรือไม่ด้วย ควรมีการขยายเวลาการปลดแม่ไก่ยืนกรงซึ่งปกติจะปลดกันที่ 90 สัปดาห์
โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตในประเทศให้มากขึ้น ไม่ให้ราคาไข่ไก่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ทราบมาว่ายังมีแผนที่จะส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศในช่วงเทศกาลกินเจอีกประมาณวันละ 1 ล้านฟอง จากเดิมที่มีการส่งออกเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่า ปริมาณไข่ไก่จะมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาไข่ไก่มีราคาสูงขึ้นไปอีก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคที่ต้องควักเงินเพิ่ม ในขณะที่กำลังซื้อถดถอยลงทุกวัน
รัฐบาลจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพประชาชน เริ่มจากการเข้าไปดูแลราคาไข่ไก่ไม่ให้สูงจนเกินไป ด้วยการทบทวนมาตรการที่ใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ ให้ไข่ไก่อยู่ในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ประชาชนอยู่รอด ไม่ใช่เดินหน้าตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยไม่ดูความเป็นจริงว่าราคาไข่ไก่ที่แพงเกินไปจะกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ
อ่านข่าว Bright Today