กระทรวงสาธารณสุขเผยข้อสรุป กรณีเสียชีวิต 13 ราย ย้ำไม่เกี่ยวข้องกับ วัคซีนโควิด19 ยืนยันวัคซีนมีความปลอดภัย สามารถฉีดได้
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2654 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 16 มิ.ย. ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวม 7,003,783 โดส
สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 จำนวน 5,060,090 โดส พบมีอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มที่มีอาการจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 993 ราย ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดแล้ว 1,943,693 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 472 ราย
สำหรับความคืบหน้าการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด 68 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ฯ มีข้อสรุปแล้ว 13 ราย ว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วม ได้แก่
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย
- ลิ่มเลือดเป็นจ้ำเลือด 1 ราย
- ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย
- เยื้อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง 1 ราย
- เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย
- เลือดออกในสมองจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง 1 ราย
- ส่วนที่เหลือ 55 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรคและรอผลชันสูตร
จะรายงานเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์แบบเดียวกันนี้มีในทุกประเทศ เช่น ที่สหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปประมาณ 300 ล้านโดส พบการเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 4 พันราย และผลการตรวจสาเหตการเสียชีวิตพบว่า ไม่มีรายใดเกิดจากวัคซีนโควิด

สำหรับการพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์ในระบบของประเทศไทย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ จะรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตที่มีอาการรุนแรง ทั้งมีลักษณะอาการป่วย ระยะเวลาที่ได้รับการฉีดวัคซีนและเริ่มมีอาการ โรคประจำตัวและการรักษาเดิม ครอบคลุมทุกมิติ โดยผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ
- เกี่ยวข้องกับวัคซีน
- เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน
- เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีน
- เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น อาการชา เอกซเรย์สมองไม่มีสาเหตุ หายได้เองทุกราย
- เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนแต่บังเอิญเกิดร่วมกัน
- ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
- ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป
ที่มา : กระทรวงสาธารณะสุข