ผู้ติดเชื้อพุ่งส่งผลถึงวิกฤตบริษัท “ประกันภัยโควิด” ยอดเคลมทะลุ3.2หมื่นล้าน สมาคมวินาศภัยไทย ทำหนังสือถึง คปภ.ให้ทบทวนใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกเสียจากการดูแลตัวเองอย่างดี และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อแล้วนั้น เชื่อว่าเพื่อความสบายใจของใครหลายๆคน เลือกที่จะนำประกันโควิด เพราะในอนาคตเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เราจะติดเชื้อตอนไหน ซึ่งตั้งแต่เริ่มการระบาดของเชื้อโควิด-19 หลายบริษัทประกันภัยต่างออกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด แตกต่างกันในเรื่องของเงื่อนไข ราคา และจำนวนเงินประกัน มีให้เลือกหลายตัวเลือกตามความต้องการของแต่ละคน
ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวเข้าปีที่2 ผู้ติดเชื้อสะสมกว่าเกือบจะสองล้านราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564) ซึ่งเชื่อว่าในกลุ่มผู้ติดเชื้อดังกล่าวต้องมีบางส่วนที่ทำประกันโควิดเอาไว้ โดยถือว่าช่วงนี้ถือเป็นวิกฤตของบริษัทประกันภัย ทางด้านของเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว โพสต์ข่อความถึงประเด็นดังกล่าว ระบุว่า

ยอดเคลมประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ทะลุเกิน 3.2 หมื่นล้าน คาดสิ้นปีถึง 4 หมื่นล้าน นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุ เป็นสัญญาณอันตรายมาก กำชับบริษัทประกันเร่งประเมินความเสี่ยง และผลกระทบ เร่งหาทางเพิ่มสภาพคล่อง
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งหนังสือแจ้งเตือนบริษัทสมาชิก ที่รับประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ให้รีบประเมินความเสี่ยง ผลกระทบจากกรมธรรม์ ที่ยังมีผลคุ้มครองถึงมิถุนายน ปี 65 รวมถึงเงินกองทุนของบริษัท
เนื่องจากขณะนี้ยอดเคลมทั้งระบบ สูงถึง 32,000 ล้านบาทแล้ว และประเมินว่าสิ้นปีนี้จะสูงถึง 40,000 ล้านบาท หรือเกือบ 30% ของเงินกองทุน ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายมาก เพราะตามหลักการ ไม่ควรเกิน 10% ของระดับเงินกองทุน ซึ่งขณะนี้ มี 4 – 5 บริษัท ที่ต้องเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่การเปิดประเทศ อาจเกิดการระบาดระลอกที่ 5 ซึ่งอาจกระทบบริษัทประกันเพิ่มเป็น 10 บริษัท จากทั้งหมด 16 บริษัท ที่ขายกรมธรรม์เจอจ่ายจบ
ล่าสุด สมาคมวินาศภัยไทย ทำหนังสือถึง คปภ.ให้ทบทวนเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการจ่ายค่าสินไหมจำนวนมาก ใช้สิทธิบอกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองได้ เพื่อป้องกันบริษัทประกันขาดสภาพคล่อง จนถึงขั้นปิดกิจการ
ข้อมูล – สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ข่าวที่น่าสนใจ