คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)
คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีสิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิต ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น
ผู้ดำเนินโครงการ จะต้องนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นและลดลงในทุกกิจกรรมมาคำนวณคาร์บอนเครดิต ผู้ที่ต้องการค้าคาร์บอนเครดิต ต้องดำเนินการตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.ผู้ดำเนินโครงการต้องออกแบบโครงการและจัดทำเอกสารประกอบโครงการ โดยต้องกำหนดขอบเขตของโครงการ วิธีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการติดตามผลการลดก๊าซ และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.ตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ โดยส่วนใหญ่ จะทำการจ้างหน่วยงานกลาง (Designated Operational Entity) ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ แทนคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board) ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบอนน์ ประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากนั้น ผู้ดำเนินโครงการต้องได้รับหนังสือเห็นชอบจากองค์กรระดับชาติ ซึ่งในประเทศไทย คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 จะพิจารณาและออกใบรับรองแก่โครงการ
3.การขึ้นทะเบียนโครงการต่อคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด ซึ่งจะมี 4 ขั้นตอนย่อย ก่อนการออกใบรับรองสิทธิ์การค้าก๊าซเรือนกระจก คือ การติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยืนยันการลดก๊าซ การรับรองการลดก๊าซ และการอนุมัติคาร์บอนเครดิต หรือการออกใบรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Certified Emission Reductions ; CER) โดยคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด

อ้างอิง https://www.tistr.or.th/tistrblog/