ตะลึง! สงขลา พบ หินภูเขาไฟ ซัดเข้าฝั่ง เกลื่อนหาด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้เป็นหินกรวดที่มีแร่ธาตุมีประโยชน์ต่อทะเล
จากกรณีที่ ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง รับแจ้งข่าวพบตะกอนหินถูกคลื่นซัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดในเขต จ.สงขลา ผลการตรวจสอบพบว่าเป็นหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอน 0.3 – 3.0 ซม. ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ เป็นหินประเภท หินอัคนีพุ
โดยพบกระจายทั่วไปตลอดแนวชายหาด จ.สงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของ อ.สทิงพระ ได้แก่ ต.วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมทั้งได้รับรายงานในพื้นที่อื่น ๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวนั้น


ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกมาระบุว่า ผลจากการวิเคราะห์กระแสน้ำโดยนักวิชาการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า จากข้อมูลกระแสน้ำที่ผิว (ชุดข้อมูล OSCAR วันที่ 21 และ 31 มกราคม 2565 ซึ่งแปลผลจากดาวเทียม) ได้แสดงให้เห็นว่าทิศทางการไหลของกระแสน้ำในช่วงหลังวันที่ 15 มกราคม 2565 (ซึ่งตรงกับช่วงเกิดการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำประเทศตองกา)
จนถึงปัจจุบัน กระแสน้ำในช่วงนี้ได้แสดงแนวการไหลวนภายในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้เป็นหลัก และน่าจะพัดพาเศษวัสดุที่แขวนลอยในมวลน้ำให้วนอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้เท่านั้น ไม่น่าจะนำวัสดุใดๆ พัดมาสู่อ่าวไทยตอนล่างในช่วงนี้ได้ ดังนั้น เศษกรวดภูเขาไฟที่พบในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างนี้ จึงไม่ได้ถูกพัดพามาจากการระเบิดของภูเขาไฟตองกา

จากข้อมูลศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เชื่อว่า กรวดภูเขาไฟที่พบน่าจะมาจากการประทุของภูเขาไฟ “อานัก กรากาตัว” ที่อยู่ระหว่างตอนใต้ของเกาะสุมาตราและตอนเหนือของเกาะชวา ทางตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดการปะทุเมื่อปี พ.ศ. 2561 มากกว่าจะที่เป็นกรวดภูเขาไฟที่ปะทุจากเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำตองกา ในประเทศตองกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ กรวดภูเขาไฟที่ถูกพัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดนี้ จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศชายฝั่งมากกว่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากร เนื่องจากกรวดเหล่านี้ประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศทะเล