อะไรกันเนี่ย! หมอโพสต์เตือนภัย เด็กป่วยรวม 6 ราย หลังทาน ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ อ.เจษฎา ชี้ มีการเติมสารกลุ่ม ไนเตรท-ไนไตรท์ เข้าไปเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้
จากกรณีที่ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ออกมาเตือนภัย อันตรายจาก ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ระบุว่า “เตือนภัย!!!! ขอเรียกว่าเวรไส้กรอกร้าย อันตรายมากค่ะ ช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระวังมากๆนะคะ เด็กพี่น้อง 2 คน มา ER ด้วยอาการปากเขียวคล้ำ (central cyanosis) O2 80% อาเจียน ซึมสับสน หลังทานไส้กรอก1-2 แท่งไม่มียี่ห้อ 2 hrs. PTA ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ให้ O2 therapy on ETT ไม่response เลือดสีดำ chocolate เจาะ ABG มีO2 saturation gap ให้นึกถึงภาวะ “ Methemoglobinemia“ (ภาวะเมทฮีโมโกลบิน)
ทำให้ใน สัปดาห์ที่ผ่านมี มีเด็กป่วยด้วยภาวะ เมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด (เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย) โดยทั้ง 6 รายมีประวัติกิน ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับอาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาจหมดสติได้ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ ในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต


จากสาเหตุเดียวกัน ล่าสุดนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาไขข้อข้องใจถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้แล้ว
สาเหตุของเรื่องนี้ น่าจะเกิดจากการที่ไส้กรอกแบบไม่มียี่ห้อไม่มีแหล่งผลิตชัดเจนเหล่านี้ มีการเติมสารกลุ่ม “ไนเตรท-ไนไตรท์” เข้าไปเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้
ปกติในการทำอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม ฯลฯ ก็จะมีการใส่สารพวก โซเดียมไนไตรท์ โซเดียมไนเตรท โปแตสเซียมไนไตรท์ ลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียอันตราย เช่น Clostridium botulinum คลอสทริเดียม โบทุลินั่ม เจริญเติบโตในระหว่างที่หมักเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเชื้อจะสร้างพิษอันตรายต่อผู้บริโภค
ซึ่งตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้ ให้ใส่ไนเตรตหรือไนไตรต์รวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม … เพราะถ้ามากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่นๆ เช่น นำไปสู่การเป็นสารก่อมะเร็ง
หรือทำให้เกิดสภาวะที่สารโปรตีน ฮีโมโกลบิน ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงของร่างกาย และมีหน้าที่นำพาออกซิเจน เปลี่ยนสภาพเป็น เฮทฮีโมโกลบิน ที่นำออกซิเจนไม่ได้ ซึ่งถ้าผู้บริโภคกินเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ ในเวลาอันสั้น จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ (ตัวอย่างเช่น ถ้ากินเข้าไปเกิน 32 mg ต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม จะทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงได้) ดังที่เป็นข่าวครับ
ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุด คือ ให้เลือกกินแต่เฉพาะที่มีชื่อยี่ห้อ มีแหล่งผลิตชัดเจน มีชื่อผู้ผลิต และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจาก อย. เรียบร้อยแล้วเท่านั้น (รวมทั้งให้บริโภคได้ไม่มากเกินไปในแต่ละวัน คือ ไม่ควรเกินวันละ 100 กรัม)