นี่มันอะไรครับเนี่ย!! เพราะป่วยจึงขอ ลาป่วย แต่บังคับให้ ลาพักร้อน แบบนี้ได้เหรอ คนป่วยไปทะเล..สุดจะงง มีคำตอบแบบนี้ได้หรือไม่
รูปแบบวันหยุดจากการทำงานที่เราเข้าใจกัน มันมีอยู่หลายประเภท ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกับตามสิทธิของเรา เช่น ลากิจ ลาคลอด ลาพักร้อน หรือ ลาป่วย ซึ่งจำนวนวันลาขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทนั้นกำหนด แต่สำหรับการลาป่วยนั้น สิทธิ์ตามกฎหมายนั้น เรามีวันลาป่วยทั้งหมด 30 วัน
แน่นอนว่า ถ้าเราป่วยทำงานไม่ไหว หลายคนก็เลือกที่จะลาป่วย จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับอาการป่วย และการสั่งพักของแพทย์ คงไม่มีใครอยากใช้วันลาอื่นๆมาเพื่อลาป่วย ก็คงต้องรักษาสิทธิ์วันลาอื่นๆเพราะกิจอื่นๆ เช่น ไม่มีใครอยากใช้พักร้อน เพื่อรักษาอาการป่วย

โดยล่าสุด ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก กฎหมายแรงงาน ตอบข้อสงสัยกรณีที่เรา “ขอลาป่วย แต่บังคับให้หยุดพักร้อน” ซึ่งให้ข้อมูลว่า มันคนละอารมณ์กันเลยระหว่างการนอนซมป่วย กับอารมณ์นิ่งชิว ๆ ริมทะเล หรือสัมผัสสายหมอกและขุนเขา
ต้องบอกว่าแบบนี้ทำไม่ได้ ลูกจ้างเสียเปรียบ เพราะการลาป่วยจะได้ค่าจ้าง 30 วันตามกฎหมาย ดังนี้นายจ้างจึงอาจไม่ต้องการให้ลูกจ้างลาป่วยเพราะอาจมองว่าจ่ายฟรี 30 วันแต่ไม่ได้แรงงาน

แต่การให้หยุดพักร้อน หรือหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งกฎหมายบังคับให้หยุด 6 วัน และต้องจ่ายแน่ ๆ 6 วัน ซึ่งเป็นการจ่ายฟรี 6 วันแต่ไม่ได้แรงงาน เช่นนี้นายจ้างรายนี้จึงต้องการให้ลูกจ้างใช้วันหยุดพักร้อนก่อน ลูกจ้างซึ่งแทนที่จะได้มีวันหยุดพักร้อนก็ต้องหมดไปเพราะนายจ้างบังคับให้ใช้แทนการลาป่วย
จากคำถามนี้จะเห็นได้ว่าลูกจ้างป่วยจริง เพราะมีใบรับรองแพทย์ แต่ก็ไม่สามารถลาป่วยได้ ทั้ง ๆ ที่มาตรา 32 กำหนดว่าหาก “ป่วย” ก็ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง กรณีนี้ลูกจ้างอาจต้องเก็บหลักฐานการขอลาป่วยเอาไว้ อาจร้องแรงงาน(แบบไม่เปิดเผยชื่อ) ถึงการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายของนายจ้าง ซึ่งแรงงานจะปกปิดชื่อของลูกจ้าง
ขอบคุณข้อมูล – กฎหมายแรงงาน