หมอยง ยืนยัน! ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อปลอดภัย ได้ผลดี ภูมิคุ้มกันสูง ต้านสายพันธุ์เดลต้าได้ การศึกษาในไทยกว่า 1,200 คน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ชี้ไวรัสไม่รู้เป็นวัคซีนยี่ห้อไหน
วันนี้ 13 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ ยง ภู่สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวระหว่างการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออธิบายถึงแผนการสลับชนิดวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ขณะนี้ยังฉีดได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส โดยมีปัจจัยสำคัญมากจากข้อจำกัดด้านจำนวนวัคซีน ทำให้ต้องบริหารวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ดี ระยะแรกที่หลายบริษัททั่วโลกได้มีการผลิตวัคซีนโควิดขึ้น จะยึดต้นแบบจากไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ในระยะเวลา 1 ปีที่ผลิต ไวรัสก็ได้มีวิวัฒนาการหรือกลายพันธุ์เพื่อต่อสู้เช่นเดียวกัน ทำให้วัคซีนที่ผลิตออกมามีประสิทธิภาพการป้องกันลดลง
ทั้งนี้หมอยงยังได้กล่าวอีกว่า “ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไรนะครับ”
สำหรับประเทศไทยใช้วัคซีนทั้งหมด 2 แพลตฟอร์ม ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อตาย ยี่ห้อซิโนแวค และวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า

ผลจากการศึกษาการฉีดซิโนแวคเข็มแรก และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 พบว่า มีภูมิต้านทานสูงขึ้นเกือบเท่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม โดยใช้เวลากระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นเพียง 6 สัปดาห์ เร็วกว่าการการฉีดด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มแล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 ถึง 1 เท่าตัว
ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ชนิด ต่างมีข้อจำกัด โดยวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค กระตุ้นภูมิต้านทานได้ต่ำกว่า วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อเจอกับโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) เดลต้า (อินเดีย) แต่สามารถฉีดได้เร็ว โดยเว้นระยะเพียง 4 สัปดาห์ขณะเดียวกันแม้แอสตร้าเซนเนก้า จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่า แต่มีข้อจำกัดด้านการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ซึ่งต้องห่างราว 8-12 สัปดาห์
เมื่อถามถึงความปลอดภัยด้านการฉีดสลับยี่ห้อ จากผลการศึกษาในประเทศไทยที่มีผู้ฉีดสลับชนิดถึง 1,200 ราย พบว่าแต่ละรายมีผลข้างเคียงไม่รุนแรง ซึ่งผลการศึกษาในระดับคลินิกที่บันทึกผลของผู้ฉีดในทุกวันจะเปิดเผยในช่วงสิ้นปีนี้


อย่างไรก็ตาม สำหรับการฉีดสลับยี่ห้อ เบื้องต้นจะนำร่องกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ต่อมาจึงเป็นกลุ่มประชาชน