ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คดี ซินแสโชกุน ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่น เพิ่มโทษจำคุก 2,903 ปี พร้อมให้ชดใช้เหยื่อหลายร้อยล้านบาท
12 มี.ค. 64 ที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.2176/2560 ที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด, น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน อายุ 34 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ, นางมณฑญาณ์ นิรันดร หรือจันทร์ฉาย นาคฤทธิ์ อายุ 60 ปี มารดาของซินแสโชกุน, นายก้องศรัณย์ แสงประภา อายุ 26 ปี ลูกพี่ลูกน้องของซินแสโชกุน, น.ส.ทัศย์ดาว สมัครกสิกรรณ์ อายุ 39 ปี เลขานุการและคนรักของซินแสโชกุน, นางประนอม พลานุสนธิ์ อายุ 44 ปี รองประธานบริษัท, นางณิชมน แสงประภา อายุ 68 ปี ป้าของซินแสโชกุน และเป็นมารดาของนายก้องศรัณย์, นางพารินธรญ์ หงส์หิรัญ ดัคกอร์ อายุ 39 ปี ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท, น.ส.สุดารัตน์ อเนกนวล อายุ 29 ปี ผู้ดูแลการขาย และนายโกวิท ช่วยสัตว์ อายุ 34 ปี คนรักของ น.ส.สุดารัตน์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3, 4, 12
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ว่า การกระทำของ บจก.เวลท์เอเวอร์ จำเลยที่ 1, น.ส.พสิษฐ์ จำเลยที่ 2, น.ส.ทัศย์ดาว จำเลยที่ 5 และ นางพารินธรญ์ จำเลยที่ 8 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 5, 12 ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 6 เฉพาะจำเลยที่ 1-2 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป

ซึ่งการกระทำฐานฉ้อโกงและการนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น ให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมฯ จำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 คนละ 871 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 4,355 ปี ให้ปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 435,500,000 บาท และให้ปรับจำเลยที่ 1-2 รายละ 20,000 ตามความผิด พ.ร.บ.อาหาร จึงรวมโทษปรับบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 2, 5, 8 เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) แล้ว ให้จำคุกจำเลยได้สูงสุดคนละ 20 ปี
ทั้งนี้ ศาลยังพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2, 5, 8 ร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 871 ราย มูลค่ากว่า 51 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ริบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของกลางจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยที่ 2, 5, 8 ร้อยละ 25 ของค่าปรับจำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 6, 7, 9, 10
ต่อมา น.ส.พสิษฐ์ หรือซินแสโชกุน กรรมการผู้จัดการบริษัทฯ จำเลยที่ 2, นางพารินธรญ์ ผู้ดูแลการเงินและผู้ช่วยการโฆษณาของบริษัท จำเลยที่ 8 ยื่นอุทธรณ์สู้คดี
ในวันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยที่ 2, 5, 8 มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 6, 9, 10 เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว อุทธรณ์ของ ซินแสโชกุน จำเลยที่ 2 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ นางประนอม จำเลยที่ 6 และ น.ส.สุดารัตน์ จำเลยที่ 9 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 มีการโฆษณากล่าวอ้างว่าสามารถพาไปเที่ยวต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง การทำธุรกิจนี้มีการจัดประชุมและสัมมนาหลายครั้ง จำเลยที่ 6, 9 ซึ่งเป็นรองประธานบริษัทและพนักงานบริษัท ได้เข้าร่วมประชุมหลายครั้ง น่าจะทราบว่าการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1-2 ไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังร่วมกันช่วยเหลือให้ดำเนินการต่อไปได้ และหากจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์จริง ก็ควรจะเข้ามอบตัวสู้คดีกับพนักงานสอบสวน แต่กลับเดินทางไปที่ จ.ระนอง พร้อมกับจำเลยที่ 2
ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1-2 ให้กระทำความผิด ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จำคุกจำเลยที่ 5, 6, 8, 9 คนละ 2,903 ปี 4 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น