รองโฆษกอัยการสูงสุด ยืนยันนาย สมคิด พุ่มพ่วง ถูกตัดสินจำคุกทุกคดี เป็นระยะเวลา 50 ปี แต่นายสมคิดประพฤติตัวเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จึงมีการลดโทษเหลือ 14 ปี ก่อนจะออกมาก่อเหตุฆาตกรรมอีกครั้งเมื่อ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้หากเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย อัยการอาจขอเพิ่มโทษ 1 ใน 3 พร้อมบรรยายคำฟ้องให้ศาลเห็นพฤติกรรมว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ที่ถึงแม้ว่าจะรับสารภาพ ก็ไม่ได้เกิดจากความสำนึกผิดในการกระทำ แต่เป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน
วันนี้ (17 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ (เพ็ด ชะ ระ คุณ) รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณีการดำเนินคดีกับนายสมคิด พุ่มพวง ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมนางรัศมี มุลิจันทร์ แม่บ้านของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังพ้นโทษจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงสาว 5 รายเมื่อปี 2548 โดยระบุว่า ในคดีเดิมทั้ง 5 คดี ศาลเชื่อพยานหลักฐานของอัยการทั้งหมด และได้ตัดสินประหารชีวิตนายสมคิดทุกคดี แต่นายสมคิดรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่ตามกฎหมายอาญากำหนดให้ลงโทษจำคุกจำเลยทุกคดีรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 50 ปี โดยนายสมคิดได้ถูกจำคุกตั้งแต่มิถุนายน 2548 และได้รับการลดหย่อนโทษเรื่อยมา จนพ้นโทษจำคุกออกมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาก่อเหตุซ้ำ พนักงานอัยการมีหน้าที่ยื่นขอเพิ่มโทษจำเลยในคดีใหม่ได้ 1 ใน 3 หากเป็นการกลับมาก่อเหตุซ้ำ หลังพ้นโทษออกมาภายใน 5 ปี โดยกรณีของนายสมคิดกลับมาก่อเหตุซ้ำภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งอยู่ในข่ายที่อัยการจะยื่นขอให้เพิ่มโทษในคดีใหม่ได้ แต่หากคดีใหม่นี้ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต หรือลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นโทษสูงสุดแล้ว ก็ไม่สามารถเพิ่มโทษได้อีก
ที่สำคัญอัยการจะต้องบรรยายคำฟ้องให้เห็นพฤติกรรมของจำเลย ว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ที่ถึงแม้ว่าจะรับสารภาพ ก็ไม่ได้เกิดจากความสำนึกผิดในการกระทำ แต่เป็นการรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจไม่นำคำรับสารภาพ มาพิจารณายกประโยชน์ให้จำเลยนำไปสู่การลดโทษ เพราะอัยการก็เล็งเห็นว่าพฤติการณ์ฆาตกรต่อเนื่องเป็นอันตรายต่อประชาชน
ส่วนกรณีที่นายสมคิดพ้นโทษออกมาก่อนที่กฎหมายกำหนด 50 ปี เนื่องจากได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และลดหย่อนโทษอย่างต่อเนื่อง จนเหลือจำคุกเพียง 14 ปีนั้น เป็นกระบวนการพิจารณาของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอัยการไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่เชื่อว่ากรมราชทัณฑ์ก็ดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย ส่วนหลังจากนี้จะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายการลดโทษหรือไม่นั้น ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และหากกฎหมายกำหนดมาอย่างไร ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น