วิธีหลีกเลี่ยง กยศ. หักเงินเพิ่ม 3,000 บาท เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืน ทางเดียวที่รอด ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่ถูกหักเงิน
จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” ได้โพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือจากลูกเพจ ที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ช่วยเช็กเรื่องการหักจ่ายเงินกู้ กยศ. เพิ่มแบบกะทันหันเดือนละ 3,000 บาท จากเดิมที่หักทุกเดือนอยู่แล้ว โดยอ้างว่าไม่มีการแจ้งเตือนในแอปฯ อีเมล์ หรือช่องทางใดๆ เลยว่าเงินที่เก็บเพิ่มนั้นเป็นค่าอะไร และไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
สรุปให้ กยศ. หักเงินเดือนเพิ่ม หักใครบ้าง หักกี่บาท และต้อง ปรับโครงสร้างหนี้ หรือไม่
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เริ่มดำเนินการหักเงินเดือนเพิ่มจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน จากผู้กู้ยืมที่มีสถานะ ค้างชำระหนี้ โดยไม่รวมผู้ที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. แล้ว มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
เหตุผลของการหักเงินเดือนเพิ่ม
กยศ. ดำเนินการติดตามหนี้ผู้กู้ยืมทุกรายที่ยังมียอดหนี้ค้างชำระ ซึ่งรวมถึงผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือน
ก่อนหน้านี้ กยศ. ได้แจ้งหักเงินเดือนโดยไม่ได้รวมยอดหนี้ค้างชำระเดิม และได้แจ้งให้ผู้กู้ยืมชำระยอดค้างด้วยตนเอง แต่บางรายไม่ได้ชำระเงินดังกล่าว ทำให้มียอดหนี้ค้างสะสม
บางรายได้ขอลดจำนวนเงินหักเงินเดือน แต่ไม่ได้ชำระส่วนต่างให้ครบถ้วนภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของงวดปีนั้นๆ
ดังนั้น กยศ. จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเงินที่หักต่อเดือนบัญชีละ 3,000 บาท เพื่อเรียกให้ชำระยอดหนี้ค้างดังกล่าว
กรณียอดค้างชำระน้อยกว่า 3,000 บาท จะเพิ่มจำนวนเงินรายเดือนตามยอดหนี้ค้างชำระ

การแจ้งเตือนของ กยศ.
กยศ. ได้จัดส่งหนังสือแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ให้ผู้กู้ยืม
กยศ. ได้ส่งอีเมลให้นายจ้างทราบแล้ว
วิธีหลีกเลี่ยงการถูกหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท: ผู้กู้ยืมสามารถหลีกเลี่ยงการถูกหักเงินเพิ่มได้โดยดำเนินการตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน
ขยายเวลาการผ่อนชำระอีก 15 ปี
ลดเบี้ยปรับให้ 100%
และปลดผู้ค้ำประกันให้ทันทีเมื่อทำสัญญา
กองทุนฯ จะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วตัวอย่างเช่น หากทำสัญญาภายในเดือนเมษายน 2568 จะถูกหักเงินเพิ่ม 3,000 บาทเพียงเดือนเดียว และจะแจ้งยอดผ่อนชำระใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2568
สามารถปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th
เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ครอบคลุมหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มก่อนฟ้องคดี, กลุ่มที่บอกเลิกสัญญาแต่ยังไม่ฟ้องคดี, กลุ่มที่ฟ้องคดีแล้วแต่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา, กลุ่มที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่บังคับคดีและได้บังคับคดีไปแล้ว และกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด
ผู้กู้ยืมจะต้องผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี โดยงวดสุดท้ายต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
การคำนวณยอดหนี้ใหม่จะนำรายการชำระหนี้ตั้งแต่วันครบกำหนดชำระครั้งแรกมาคำนวณใหม่ โดยจะตัดเงินต้น (เฉพาะส่วนที่ครบกำหนด) ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และอัตราเบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี
ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สะสมถึง 6 งวด หรือเหลืองวดผ่อนไม่ถึง 6 งวดแล้วผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง จะถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด และ กยศ. จะนำเบี้ยปรับที่พักไว้กลับมาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ผู้กู้ยืมต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ในการปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์

ชำระยอดหนี้ค้างให้เสร็จสิ้นแล้วทำยังไงต่อ
หากชำระแล้ว ให้นำหลักฐานการชำระแจ้งต่อนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างลบยอดเงิน 3,000 บาท ออกจากยอดหักเงินเดือนในเดือนเมษายน 2568
การตรวจสอบยอดหนี้ค้างชำระ: ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ค้างชำระได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “กยศ.Connect”
มาตรการลดหย่อนหนี้: กยศ. มีมาตรการลดหย่อนหนี้สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ประสงค์ชำระปิดบัญชีภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 โดยจะได้รับส่วนลดเงินต้น 5-10% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568 และจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% หากชำระหนี้ปิดบัญชีภายหลังการคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้วไม่มียอดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงเหลือ
ช่องทางการติดต่อ กยศ.
Call Center: 0 2016 4888
E-mail (สอบถามเรื่องทั่วไป): [email protected]
Line บัญชีทางการ กยศ.
เว็บไซต์: www.studentloan.or.th
กยศ. ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ปรับโครงสร้างหนี้ในต่างจังหวัด ประจำปี 2568 อีกด้วย