ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี นัดอ่านฏีกา คดี ที่ ป.ป.ช. เป็นโจกท์ ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง(อดีตรมช.คลัง) สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผอ.สำนักกฎหมาย , นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157
จากกรณีพวกจำเลย ได้ช่วยเหลือนายพานทองแท้ หรือโอ๊ค และน.ส.พินทองทา ชินวัตร หรือเอม บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549
โดยคดีนี้ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยที่ 1- 4 คนละ 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร ตามป.อ.มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ
ต่อมา จำเลยทั้งหมดยื่นฎีกาสู้คดี พร้อมขอให้พิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระหว่างฏีกาจำเลยทั้งหมด ได้ประกันตัวคนละ 5 แสนบาท ซึ่งวันนี้ทั้งหมดเดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษา
โดยศาลฏีกาตรวจสำนวน และประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการ ตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้น ชินคอร์ปฯ ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้นแอบแฝงเจตนา ที่จะช่วยให้ นายพานทองแท้ และนส.พินทองทา ประกอบกับแนวการตอบข้อหารือ ก็ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากร เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้ อีกทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากรก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงค์โปร์ ที่ศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ระดับสูง เคยวินิจฉัย ข้อกฎหมายต่าง ๆ มา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคย ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่าการมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการยื่นแบบรายได้ประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้น ทั้งอาญาหรือแพ่งก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ ขณะที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษี ลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัย
ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดนั้น ศาลฏีกา เห็นพ้องด้วยในผลส่วนที่จำเลยทั้ง 5 ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น ศาลฏีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน มีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควร ให้รอการลงโทษแต่ เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของจำเลยที่ 1-4 แล้ว เห็นว่า ยังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุก จำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังศาลฎีกา พิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ว่า จำเลยทั้งหมดมีสีหน้าเคร่งขรึม และเสียใจ โดยญาติได้รีบเข้าไปโอบกอดให้กำลังใจ จำเลยบางคนพยายามกลั้นน้ำตาและกล่าวขอบคุณเสียงเครือ
ขณะที่จำเลยที่ 5 ที่มีอายุมากและมีอาการป่วย ญาติก็แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งได้มีการนำยารักษาโรคประจำตัวมาให้ด้วย ก่อนเตรียมส่งตัวเข้าเรือนจำ ซึ่งในส่วนของจำเลยผู้ชาย จะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วรจำเลยผู้หญิง จะเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง