สนข.คาดตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” เสร็จเดือนเม.ย.นี้ ให้อำนาจเบ็ดเสร็จคุมค่าโดยสาร ระบบราง “รถไฟ-รถไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง” เผยไม่ครอบคลุมสัมปทานเดินรถที่ให้ไปแล้ว
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยระหว่างเปิด “โครงการศึกษาการวางแผนเชิงระบบการจัดการเดินรถเพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน” ว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) ในวาระที่ 3 แล้ว ซึ่งคาดว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในเร็วๆนี้ และการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.2562
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมจะเสนอร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือนก.พ.นี้ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ พ.ศ…, 2.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม พ.ศ…. และ3.ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สนข. กระทรวงคมนาคม พ.ศ…ก่อนจะดำเนินการขั้นตอนจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางต่อไป
นายสราวุธ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางจะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกประเภททั้งรถไฟ รถไฟฟ้าในเมืองและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ,บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
สำหรับประเด็นที่กรมการขนส่งทางรางจะเข้าไปกำกับดูแล ได้แก่ มาตรฐานความปลอดภัย ,คุณภาพและความสะดวกในการให้บริการ ,อัตราค่าโดยสาร ,การใช้ประโยชน์ในเขตทาง การซ่อมบำรุงราง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการออกมาตรการลงโทษและปรับกรณีขบวนรถล่าช้า เป็นต้น โดยจะไม่ครอบคลุมสัมปทานรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม แต่หากสัมปทานหมดอายุ มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา หรือเปิดสัมปทานสายใหม่ ก็จะต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมรางฯ
นายสราวุธ กล่าวว่า สนข.ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น” BKK RAIL” เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบระบบและจะเปิดให้ใช้งานได้อย่างเป็นทางการเดือนมี.ค. 2562 โดยในช่วงแรกแอพฯดังกล่าว จะสามารถค้นหาข้อมูลเส้นทางแบบ Offline Mode และแสดงสถานะโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ แต่ในอนาคตจะพัฒนาเป็นข้อมูลแบบ Real Time บอกเวลาที่รถจะมาถึง เวลาถึงปลายทาง และคำนวณค่าโดยสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ สนข.จะเปิดใช้แอพพลิเคชั่นระบบนำทางในเดือนเม.ย.2562 โดยแอพฯดังกล่าวจะให้ข้อมูลระบบขนส่งเชื่อมต่อ (ฟีดเดอร์) เช่น เรือ และรถเมล์
ส่วนการวางแผนเชิงระบบการเดินรถเพื่อยกระดับบริการจะมี 5 เรื่อง คือ 1.การกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐาน ชัดเจน เข้าใจง่าย 2.การกำหนดตัวชี้วัด (KPI) มาตรฐานกำกับดูแล เช่น ความตรงต่อเวลา คือ ล่าช้าไม่เกิน 5 นาที/จำนวนเที่ยวทั้งหมด 3.พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนเชิงระบบในการจัดการเดินรถ 4.จัดทำแอพฯข้อมูลระบบรถไฟฟ้า 5.การกำกับดูแล การปฏิบัติการเดินรถเชิง Digital ของหน่วยงานภาครัฐให้ทันต่อสถานการณ์