ธปท.เปิดเสรีประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ ผ่อนคลายคุณสมบัติ-ลดสัดส่วนคนไทยถือหุ้นเหลือ 25% หวังเพิ่มการแข่งขัน หลังค่าโอนของไทยสูงถึง 7-10% แพงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ธปท.เปิดเสรีการประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศมากขึ้น โดยได้ผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้ประกอบการ จากเดิมที่กำหนดให้คนไทยต้องมีสัดส่วนถือหุ้น 3 ใน 4 หรือ 75% เป็นให้ลดเหลือ 1 ใน 4 หรือ 25% เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ๆ สามารถเข้ามาให้บริการได้มากขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น
“การแข่งขันที่มากขึ้น จะช่วยทำให้ค่าธรรมเนียมโดยรวมลดลง จากปัจจุบันที่ค่าธรรมเนียมการโอนของประชาชนรายย่อยผ่านธนาคารพาณิชย์และตัวแทนโอนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7% แต่การโอนเงินไปยังบางประเทศอาจสูงถึง 10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าหลายประเทศในภูมภาค”นายวิรไทกล่าว
อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ การเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่มีเครือข่ายที่ครอบคลุมในหลายประเทศ จะช่วยให้เกิดการแข่งขันและมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาให้บริการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยโดยรวม
“การเปิดเสรีในครั้งนี้ จะช่วยให้คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศที่ต้องส่งเงินกลับให้ครอบครัว แรงงานต่างด้าวในไทยที่ต้องส่งเงินกลับ ผู้ประกอบการ SMEs ด้านท่องเที่ยว โรงแรม หรือ SMEs ที่ค้าขายผ่าน E-commerce รวมทั้งผู้ที่ค้าขายตามแนวชายแดน มีต้นทุนการโอนเงินและการทำธุรกิจที่ถูกลง”นายวิรไทระบุ
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องมาแสดงตน ณ สถานประกอบการ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมสะดวก คล่องตัว ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
สำหรับการเปิดเสรีการประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในมาตรการของธปท. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยได้รับบริการทางการเงินด้วยต้นทุนถูกลง สะดวก และทั่วถึงมากขึ้น เช่นเดียวกับการส่งเสริมบริการ E-payment ที่ผ่านมา ที่ทำให้การโอนเงินในประเทศถูกลงอย่างมาก