“พาณิชย์” เดินหน้าบุกตลาดอินเดีย กางยุทธศาสตร์เจาะรัฐเป้าหมาย 7 รัฐ หลังส่งออกไทยไปอินเดียเดือนม.ค.โตแผ่ว
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทนรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เจาะตลาดอินเดียรายรัฐ โดยเน้นรัฐเป้าหมาย 7 รัฐ ประกอบด้วย รัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐทมิฬนาฑู รัฐเตลังกานา รัฐเวสต์เบงกอล รัฐเจ็ดสาวน้อย และนิวเดลี พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมบุกตลาดอินเดีย เพื่อสนับสนุนให้การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8%
ทั้งนี้ ในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียอยู่ที่ 12,463 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 20.16% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียอยู่ที่ 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 17.34% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ในเดือนม.ค.2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียอยู่ที่ 1,074 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 4.8% โดยมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียอยู่ที่ 639 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 3.11%
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 กรมฯ จะมีกิจกรรมที่เป็น Flagship สำคัญในตลาดอินเดีย อาทิ ในเดือนพ.ค.2562 จะจัดคณะผู้แทนการค้าธุรกิจบริการ Event Business เดินทางไปเจรจาการค้าในรัฐมหาราษฎระ เมืองมุมไบ งจะเป็นช่วงเดียวกันกับที่สภาธุรกิจไทย-อินเดีย มีกำหนดนำคณะนักธุรกิจกลุ่ม Hospitality และวัสดุก่อสร้าง เดินทางไปเจรจาการค้าในเมืองมุมไบ
ขณะที่ในเดือนก.ค.2562 กรมฯจะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย โดยเฉพาะ ลำไย มังคุด ร่วมกับห้าง Modern Trade รายใหญ่ของอินเดีย อาทิ Reliance และ Future Group ในรัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐเตลังกานา รัฐทมิฬนาฑู รัฐเวสต์เบงกอล และนิวเดลี รวมกว่า 40 สาขา
นอกจากนี้ กรมฯยังได้เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับ PayTM ซึ่งเป็นหนึ่งใน On-line Platform รายสำคัญของอินเดีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัท Trading รายใหญ่ของไทย เพื่อทำหน้าที่รวบรวมสินค้าไทยส่งให้ PayTM ไปกระจายในตลาดอินเดียต่อไป โดยหากความร่วมมือดังกล่าวเป็นบรรลุผลสำเร็จจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตลาดออนไลน์ในอินเดียได้ดีขึ้น
น.ส.บรรจงจิตต์ ยังกล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอินเดียทั้ง 3 แห่ง ได้สำรวจและศึกษาโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของผู้บริโภคในรัฐเป้าหมาย 7 รัฐพบว่า
1.รัฐมหาราษฎระ มีมหานครมุมไบเป็นเมืองหลวงของรัฐ และเป็นเมืองท่าธุรกิจที่สำคัญของอินเดีย ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงและมีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีนักธุรกิจต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ประชากรอินเดียที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ และวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ รัฐดังกล่าวสนใจสินค้านำเข้าที่มีสไตล์และทันสมัย สินค้าและบริการไทยที่มีศักยภาพเหมาะกับการเจาะตลาดนี้ คือ อาหารและเกษตรแปรรูป ร้านอาหาร ของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฟอร์นิเจอร์บิลด์อินที่มีแบบทันสมัย บริการออกแบบตกแต่งภายใน แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางสำหรับสุภาพสตรีวัยทำงานและสถานบริการด้านเสริมความงามและลดน้ำหนัก
2.รัฐคุชราตซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐมหาราษฎระเป็นรัฐ Dry State ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และชำนาญในเรื่องการเจียรไนเพชร สินค้าเป้าหมายของรัฐจึงเน้นเป็นกลุ่มอัญมณี พลอยสี ยา/สมุนไพร และอาหารมังสวิรัติ
3.รัฐทมิฬนาฑู เป็นเมืองท่าสำคัญทางอินเดียตอนใต้ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ และอากาศยานของอินดีย สินค้าเป้าหมายและบริการเป้าหมาย คือ แป้งมัน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด/แปรรูป เครื่องประดับยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการคาร์แคร์
4.รัฐเตลังกานา เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยาและไอทีของอินเดีย เหมาะสำหรับเจาะกลุ่มผู้บริโภค Super Rich และมุสลิม สินค้าและบริการเป้าหมาย คือ อาหารฮาลาล วีแกน ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นที่มีนวัตกรรมและดีไซน์ กล้วยไม้ การถ่ายทำ/ตัดต่อภาพยนตร์ และบริการรับจัดงานแต่งงาน
5.รัฐเวสต์เบงกอล เป็นเมืองท่าธุรกิจทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หรือรัฐเจ็ดสาวน้อย สินค้าเป้าหมาย คือ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ออกแบบตกแต่งภายใน เครื่องใช้ในครัวเรือน และของตกแต่งบ้าน
6.รัฐเจ็ดสาวน้อย เป็นพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วย 7 รัฐ คือ อัสสัม เมฆาลัย มณีปุระ มิโซรัม ตรีปุระ อรุณาจัลประเทศ และนากาแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกจากอาเซียน-อินเดีย โดยมีสินค้าและบริการเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีราคาไม่สูงมาก บริการโลจิสติกส์
7.นิวเดลี เป็นดินแดนสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลางอินเดีย และเป็นเมืองหลวงของอินเดีย โดยมีสินค้าเป้าหมาย คือ อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ของตกแต่งบ้าน แฟชั่นเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า