ราคาน้ำมันดิบโลกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย WTI ปิดที่ 67.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กังวลอุปทานน้ำมันตึงตัวจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
เมื่อคืนวันศุกร์ (26 ต.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวก โดยได้ปัจจัยหนุนจากความกังวลว่า มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลที่ว่าการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงาน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ปิดที่ 67.59 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.26 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้ 0.4% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค. ปิดที่ 77.62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.73 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.94%
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดที่ 75.26 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.46 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 0.6%
ด้านบมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 29 ต.ค. ว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลกับการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐ ที่คาดว่าจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว หลังนานาประเทศส่งสัญญานลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
ในขณะที่อิรักจะหยุดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางรถบรรทุกจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Kirkuk ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิรักไปยังอิหร่าน ในเดือนพ.ย.เพื่อที่จะปฏิบัติตามนโยบายการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอิรักส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางรถบรรทุกไปยังอิหร่าน 3 หมื่นบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดว่าจะถูกกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน การอ่อนค่าลงของค่าเงินในประเทศเกิดใหม่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจอิตาลี
นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นสามสัปดาห์ติดต่อกัน โดยในสัปดาห์ล่าสุด จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่น มาอยู่ที่ 875 แท่น
ทั้งนี้ บมจ.ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
โดยปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ การที่รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบียประกาศว่า ซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 11 ล้านบาร์เรล/วัน จากกำลังการผลิตเดิมที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากประเทศอิหร่านและเวเนซูเอลล่า ขณะที่การเติบโตของความต้องการน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนและตลาดเกิดใหม่