สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 1% ปิดที่ 56.07 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กังวลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่ำกว่าคาด ECB หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน
เมื่อคืนวันศุกร์ (8 มี.ค.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) งวดส่งมอบเดือนเม.ย. ปิดที่ 56.07 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 0.59 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนพ.ค. ปิดที่ 65.74 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 0.56 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 0.8%
บมจ.ไทยออยล์รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันที่ 11 ว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI และเบรนท์ เมื่อวันศุกร์ปรับลดลง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ประกาศออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเติบโตช้าลงและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบที่อาจปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ตัวเลขการขยายตัวการจ้างงานของสหรัฐ ในเดือน ก.พ. 62 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 และต่ำว่ากว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง นับว่าเป็นสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจที่ช้ามากในไตรมาสแรกของปี
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1% ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน ธ.ค. 61 ที่ระดับ 1.7% รวมถึงออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าสภาพเศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลงจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยซาอุดิอาระเบียได้ปรับลดการผลิตน้ำมันดิบเดือน ก.พ.2561 ลงมาอยู่ที่ระดับ 10.136 ล้านบาร์เรล/วัน
ส่วนกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านบาร์เรลตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้สหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก
โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุนเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 8 มี.ค.2561 ปรับลดลง 9 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 834 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 ที่ผ่านมา