เปิดประวัติ ‘หลวงพ่อพัฒน์’ หรือ ‘ท่านเจ้าคุณพระราชมงคลวัชราจารย์’ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน พระเกจิอาจารย์ผู้เลื่องชื่อในการสร้างมีดหมอ ตำรับยาโบราณ และวัตถุมงคล
เมื่อช่วงเช้า (24 พ.ย. 66) ที่ผ่านมา ทางเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานพระราชมงคลวัชราจารย์ ได้ประกาศข่าวเศร้าให้แก่ศิษยานุศิษย์ได้ทราบโดยทั่วกันถึงการมรณภาพอย่างสงบของ ‘ท่านเจ้าคุณพระราชมงคลวัชราจารย์’ หรือ ‘หลวงพ่อพัฒน์’ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน มรณภาพอย่างสงบแล้วเมื่อช่วง 01.35 น.ที่ผ่านมา หลังเข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยกำหนดการพิธีต่างๆ ทางสำนักงานพระราชมงคลวัชราจารย์จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าร่างของหลวงพ่อพัฒน์น่าจะเดินทางมาถึงวัดห้วยด้วนในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นี้
วันนี้ทีมข่าว ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะขอพาทุกท่านไปเปิดประวัติ หลวงพ่อพัฒน์ พระเกจิอาจารย์สายเมตตา พระผู้สร้าง และมอบชีวิตใหม่ให้กับลูกศิษย์ลูกหามาอย่างนับไม่ถ้วน

ประวัติ หลวงพ่อพัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพัฒน์ หรือ ท่านเจ้าคุณพระราชมงคลวัชราจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดธารทหาร (ห้วยด้วน) เกิดเมื่อ 12 พฤษภาคม 2465 ที่บ้านสระทะเล ตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ หลวงพ่อพัฒน์ ในตอนเด็กได้มีโอกาสร่ำเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งได้ฝึกท่องคาถาสั้นๆ จากหลวงพ่อเดิม อีกทั้งยังได้ศึกษาภาษาไทย ภาษาขอม จากหลวงตาน้อย และยังได้ฝึกนั่งสมาธิกับหลวงพ่ออินด้วย
เมื่อครั้งหลวงพ่อพัฒน์ มีอายุครบ 13 ปี ได้เดินทางกลับมาที่บ้านสระทะเล เพื่อศึกษาต่อจนจบชั้นป.4 โดยอาศัยอยู่กับหลวงลุง ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ในระหว่างที่หลวงพ่อพัฒน์เดินทางไปอาศัยอยู่ที่วัดหนองหลวง และวัดสระทะเลนั้น ได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อเทศอีกด้วย
เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารหลวงพ่อพัฒน์ถูกคัดเลือกให้เข้าไปเป็นทหารกองประจำการจนอายุ 24 ปีจึงได้ปลดประจำการในปีพ.ศ.2489 ซึ่งในระหว่างที่เป็นทหารอยู่นั้น พลทหารพัฒน์ได้ใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาคุ้มครองป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลาในระหว่างทำสงคราม ทำให้พลทหารพัฒน์รอดชีวิตมาอย่างปลอดภัย
หลวงพ่อพัฒน์ ท่านได้เข้ารับการอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2489 ณ วัดสระทะเล โดยมี พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด อกฺกวํโส) วัดเขาแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กัน วัดเขาแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการชั๊ว วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญฺญกาโม”
หลังบวชได้ระยะหนึ่งท่านก็ได้เริ่มเรียนนักธรรมตรีและโท ในระหว่างนั้นหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ได้ไปสร้างเสนาสนะและโบสถ์อยู่ที่วัดอินทราราม (วัดของหลวงพ่อแก้ว พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเดิม) หลวงพ่อพัฒน์ จึงถือโอกาสนี้ไปร่ำเรียนกรรมฐานและพุทธาคมกับท่านหลวงพ่อเดิมอยู่ 2 พรรษาจึงศึกษาจบ
หลังจากนั้น หลวงพ่อพัฒน์ ได้ออกธุดงค์ไปเรียนวิชาทางเมตตามหานิยมกับหลวงพ่อชุบ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ และรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ รวมเป็นเวลา 6 ปี จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดสระทะเล บ้านเกิดอีกครั้ง เมื่อกำนันตำบลธารทหารทราบเรื่องจึงพาพ่อและแม่ของหลวงพ่อพัฒน์มาอาราธนาท่านให้มาช่วยพัฒนาวัดอยู่วัดธารทหาร(ห้วยด้วน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา กระทั่งในปี พ.ศ.2564 ท่านได้รับพระราชทานพัดรองที่ระลึกงานบรมราชาภิเษก

หลวงพ่อพัฒน์ พระผู้ให้ ที่มีประชาชนและลูกศิษย์เลื่อมใสศรัทธามากมาย
หลวงพ่อพัฒน์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความเมตตาสูง ท่านเก่งในเรื่องการสร้างมีดหมอ วิชาตำรับยาโบราณ รวมถึงปลุกเสกวัตถุมงคลที่เป็นสิริมงคลมากมาย เนื่องด้วยที่ท่านเองเป็นพระสายธุดงค์ ทำให้มีเหล่าศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือจำนวนมาก
หลวงพ่อพัฒน์จะนำปัจจัยที่ญาติโยมมาถวายให้ไปใช้ในการทำนุบำรุงศาสนา และมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อการสาธารณประโยชน์ เช่น วัด โรงพยาบาล และโรงเรียน โดยไม่ได้มีการนำปัจจัยที่ได้มาใช้ในการส่วนตัวเลยแม้แต่บาทเดียว

ไวยาวัจกรวัด ยักยอกเงินทำบุญกว่า 63 ล้านบาท
ในปีพ.ศ.2564 หลวงพ่อพัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน เคยถูกกลุ่มไวยาวัจกรวัดทุจริตเงินวัดไปกว่า 60 ล้านบาท จนเกิดเป็นข้อถกเถียงกันถึงเรื่องของการบริหารจัดการเงินวัดที่ไม่โปร่งใส ทำให้คณะลูกศิษย์ เข้าแจ้งความกับกองปราบปราม จนกระทั่งติดตามเงินทั้งหมดคืนมาจนได้ และดำเนินคดีกลุ่มไวยาวัจกรวัดด้วยข้อหาฉ้อโกง
หลวงพ่อพัฒน์ มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 01.35 น. ขณะเข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ สิริอายุ 101 ปี 77 พรรษา สร้างความโศกเศร้าให้กับเหล่าศิษยานุศิษย์และชาวนครสวรรค์ที่เลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อเป็นอย่างมาก
ก่อนที่ หลวงพ่อพัฒน์ จะมรณภาพลง ท่านได้สั่งเสียเอาไว้ว่า ให้เก็บบรรจุร่างไว้ ไม่มีการประชุมเพลิงแต่อย่างใด
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
- (ไม่ทราบ พ.ศ.) – เจ้าอาวาสวัดธารทหาร ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ. 2526 – เจ้าคณะตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ. 2545 – ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลธารทหาร[5]อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
- ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ฝ่ายมหานิกาย
สมณศักดิ์
- พ.ศ. 2505 เป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ที่ “พระครูพัฒน์ ปุญฺญกาโม”
- พ.ศ. 2526 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ที่ “พระครูนิวิฐปุญญากร”
- พ.ศ. 2543 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นโท ในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2545 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
- 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชมงคลวัชราจารย์ ไพศาลศาสนกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
ที่มา : wikipedia, สำนักงานพระราชมงคลวัชราจารย์ , sanook