ข่าวดีที่คนไทยทั้งประเทศรอคอย คือการเข้าไปค้นพบว่า ทีมหมูป่า อะคาเดมี่นั้นยังปลอดภัย และรอการช่วยเหลืออยู่ภายในถ้ำ และเมื่อเจอแล้ว การนำตัวน้องๆออกมาจากในถ้ำ คงเป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกู้ชีพนั้นไม่ง่ายเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีถ้ำหลวง สถานที่ที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึง

ตามแผนการที่นำเสนอออกมาผ่านสื่อโดย นาวาเอกอนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับกรมรบพิเศษ 1 นสร.กร. ที่อยู่ภายในโถง 3 ได้วางแผนการช่วยเหลือเอาไว้เป็น 3 เฟสด้วยกัน
คือ 1. ส่งนักดำน้ำ4 นาย พร้อมอุปกรณ์ดำรงชีพ พาวเวอเจล(อาหารเหลว) เข้าทำการช่วยเหลือ และพักอาศัยเป็นเพื่อน พร้อมกับสำรวจโครงสร้างภายใน ให้อยู่ได้โดยปลอดภัย
เฟส2 ส่งนักดำน้ำพร้อมแพทย์ เข้าทำการช่วยเหลือ และปรับสภาพอากาศเข้าไปภายใน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
เฟส3 เตรียมส่งอาหาร เพิ่มเติม ให้อยู่ได้ 4 เดือน เป็นอย่างน้อย ควบคู่กับการสอนดำน้ำให้ ทั้ง13 คน พร้อมกับยังคงดำรงการระบายน้ำ ตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนที่วางแผนกันไว้เบื้องต้น จะยังไม่มีการลำเลียงทีมหมูป่าออกมาภายในระยะเวลาอันใกล้เลย ข้อจำกัดของภารกิจนี้มีอะไรบ้าง
- สภาพแวดล้อมภายในถ้ำหลวงเอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากจุดที่ ทีมหมูป่าอยู่นั้น อยู่ค่อนข้างลึก การเดินเท้าเข้าไปมีความยากลำบาก บางช่วงเป็นช่องแคบที่สามารถลอดได้แบบพอดีตัว การที่จะลำเลียงทั้ง 13 ชีวิตออกมาจึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนกันเป็นอย่างดี
- สภาพร่างกายของทั้ง 13 คนตอนเดินเข้าไป กับปัจจุบันนี้ ย่อมไม่เหมือนกัน การที่ต้องอยู่ในที่มืด ชื้น และขาดอาหารมาต่อเนื่องกว่า 10 วัน ถึงแม้ว่าจะเป็นนักกีฬา แต่การจะให้ออกมาจากในถ้ำเลยทันที เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก และอาจจะอันตรายถึงชีวิต ควรจะต้องรอให้ร่างกายฟื้นฟูได้เต็มที่เสียก่อน
- ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝน ก็จะยิ่งเพิ่มความยากเป็นทวีคูณ ถึงแม้จะมีการระดมเครื่องสูบน้ำมาใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ฝนที่ตกลงมาเรื่อยๆก็เหมือนจะทำให้การสูบน้ำออกจากถ้ำนั้น เป็นภารกิจที่ไม่มีวันจบสิ้น เพราะยิ่งฝนตกหนัก ก็จะยิ่งเติมน้ำใหม่เข้าภายในถ้ำไปเรื่อยๆ ทางที่เป็นไปได้คือรอให้สูบน้ำออกมาให้หมด หรือ รอให้หมดหน้าฝนค่อยเดินออกมา ซึ่งก็อาจจะต้องรอกันอีกหลายเดือน
- หากว่าจะไม่รอให้หมดฤดูฝน อีกหนึ่งทางเลือกคือการฝึกให้ทีมหมูป่าดำน้ำ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนพอสมควร อย่างน้อยก็หลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือนๆ และยิ่งการฝึกฝนนั้นอยู่ในข้อจำกัดเรื่องของสถานที่ ความมืด และน้ำที่ไหลเชี่ยว ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อน และมีความเป็นไปได้ว่าเด็กบางคนอาจจะเกิดอาการตกใจเมื่อลงน้ำและต้องลอดผ่านในพื้นที่ซับซ้อนของถ้ำ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไปอีก
การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ประสบเหตุเป็นหลัก ถ้าหากว่าขั้นตอนของความช่วยเหลือใดๆนั้นมีความเสี่ยงก็ควรจะต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ อย่างในกรณีของทีมหมูป่านั้น ถือว่าเป็นปฏิบัติการกู้ชีพที่ยากลำบาก และเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกภาคส่วน ถ้าการรอจะทำให้ผู้ประสบเหตุ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรจะทำ