ปฏิบัติการที่ “ถ้ำหลวง” นับเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่โลกต้องบันทึกไว้ เพราะแม้ว่า 13 ชีวิตจะติดอยู่ในถ้ำที่ประเทศไทย แต่ความช่วยเหลือจากนานาประเทศและความสนใจจากทั่วทุกมุมโลกต่างพุ่งเป้ามายังที่แห่งนี้ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดีที่สุดถูกนำมาใช้ สุดยอดฝีมือมากมายเข้ามาทำงานทั้งเบื้องหน้าและคนเบื้องหลังอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่มีส่วนช่วยให้ภารกิจในครั้งนี้จบลงอย่างสมบูรณ์
ในการแถลงปิด “ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง” อย่างเป็นทางการ “ทีมสูบน้ำ” ถูกยกให้เป็น “หัวใจ” สำคัญของปฏิบัติการถ้ำหลวง ซึ่งน่าภาคภูมิใจว่า หนึ่งในเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้สูบน้ำออกจากถ้ำ คือเครื่องมือที่ผลิตคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยคนไทย และเดินทางไปถึงถ้ำหลวงด้วยหัวใจของคนไทย

เดินทาง 1,000 กม.สู่นางนอนด้วยใจ
ผู้ใหญ่ตั๊น – นายนภดล นิยมค้า อดีตผู้ใหญ่บ้านอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในวัย 64 ปี คือหนึ่งในผู้ปิดทองหลังพระ เพราะผู้ใหญ่ตั๊นคือเจ้าของเครื่องสูบน้ำที่ช่วยระบายน้ำออกจากถ้ำหลวงจนเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานค้นหาได้ง่ายขึ้น
ผู้ใหญ่ตั๊น เล่าให้เราฟังว่า ครอบครัวของตนผลิตและพัฒนาเครื่องสูบน้ำจำหน่าย โดยเครื่องสูบน้ำดังกล่าวสามารถสูบน้ำได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หลังเกิดเหตุการณ์เด็กๆ เข้าไปติดอยู่ในถ้ำ ได้รับการติดต่อจากอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทราบว่าตนมีเครื่องสูบน้ำที่น่าจะช่วยสูบน้ำออกจากถ้ำได้ให้เดินทางไปช่วยเหลือเด็กๆ
“ผมติดตามข่าวอยู่แล้วใจก็อยากไปช่วย พออาจารย์ชักชวนมา ก็ตัดสินใจยกเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องของที่บ้านขึ้นรถกระบะเดินทางจากเพชรบุรีไปกับลูกน้อง 1 คน และได้ประสานขอยืมเครื่องสูบน้ำจาก เจ้าอาวาสวัดลาย ทุ่งหลวง คีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 1 เครื่อง จาก นายกเทศมนตรีเมืองบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี อีก 10 เครื่อง ซึ่งเป็นลูกค้าที่เคยมาซื้อของเราไปใช้ เท่ากับเรามีเครื่องสูบน้ำที่นำมาใช้ได้ 13 เครื่องแล้ว แต่ไม่มีรถขนไป มีแค่ของผมที่จะเดินทางไปถึงถ้ำหลวง”
รถมูลนิธิชัยพัฒนาช่วยเปิดทาง
แม้ว่าจะเดินทางถึงถ้ำหลวง แต่ผู้ใหญ่ตั๊นก็ไม่สามารถเข้าไปถึงพื้นที่ปฏิบัติงานได้ เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติงานอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันศูนย์อำนวยการฯ ก็ต้องรัดกุมในการดูแลพื้นที่ เมื่อพักค้างอยู่บริเวณดังกล่าวได้ 3 วันแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงตัดสินใจเดินทางกลับจังหวัดเพชรบุรี
“ผมจะกลับบ้านแล้ว เดินทางมาถึงจังหวัดแพร่ แต่ผู้ปกครองของน้องๆ ได้โทรเข้ามาหาผม ว่าผู้ใหญ่ฯ อย่าเพิ่งกลับ เขาจะร่วมกันลงชื่อเสนอศูนย์อำนวยการฯ ให้ได้ทดลองนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปใช้ จังหวะเดียวกับทางทีมจังหวัดลพบุรีได้โทรมาบอกผมว่า ได้รถยนต์ที่จะขนอุปกรณ์เข้าไปถ้ำหลวงแล้ว มูลนิธิชัยพัฒนาให้นำรถมาใช้ขนอุปกรณ์ต่างๆ ได้ ตอนนั้นผมดีใจมาก มั่นใจว่าต้องได้เข้าไปช่วยเด็กๆ แน่ ถ้ารถมูลนิธิชัยพัฒนาขนของมาให้ คิดถึงพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าต้องช่วยเราได้ พอได้รถขนย้าย ทางทีมลพบุรีก็ไปถอดเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาจากนาของชาวบ้านเพื่อมาถ้ำหลวงกันเลย และเราก็มีโอกาสได้เข้าไปปฏิบัติงานในถ้ำอย่างที่ตั้งใจ เป็นผลจากทั้งการประสานงานของบุคคลต่างๆ และทั้งจากรถของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ทำให้เข้าถึงพื้นที่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องรอบคอบว่าจะอนุญาตใครเข้าไปในพื้นที่ได้บ้าง”
1 ชั่วโมงน้ำลด 50 เซนติเมตร
หลังจากได้รับอนุญาตให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ผู้ใหญ่ตั๊นได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และกำลังพลในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ใช้เวลาในการติดตั้ง 1 วัน และวันต่อมาจึงได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำออกจากถ้ำ
“ครั้งแรกเราติดตั้ง 3 เครื่อง เดินเครื่องได้ 1 ชั่วโมง น้ำในถ้ำลดลง 50 เซนติเมตร จึงได้มีคำสั่งให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่ม เราต้องหาจุดตั้งเครื่องสูบน้ำ ซึ่งทุกอย่างยากลำบากไปหมด ทั้งพื้นที่วางเครื่อง จุดวางท่อ และต้องทำงานแข่งกับเวลา เราวางเครื่องเพิ่มได้อีกเพียง 4 เครื่อง เดินเครื่องสูบน้ำเต็มสูบ ได้ราวๆ 6 ชั่วโมง นักดำน้ำชาวอังกฤษก็เข้าไปพบตัวเด็กๆ ผมดีใจมากที่สุดจริงๆ”
ผู้ใหญ่ตั๊น เล่าถึงเครื่องสูบน้ำที่นำมาช่วยที่ถ้ำหลวงว่า ตนและบุตรชายคือ ดร.ภูวดล นิยมค้า ซึ่งเรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการสำรวจเรือใต้น้ำจากประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมพัฒนาเครื่องสูบน้ำระบบเทอร์โบเจ็ทขึ้น เพื่อใช้ในการทำนาเกลือซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว แก้ปัญหาเครื่องสูบน้ำเสียและท่อขึ้นสนิม เพราะการทำนาเกลือเครื่องสูบน้ำและท่อจะพังง่าย โดยได้เปลี่ยนมาใช้ท่อพีวีซีแทนท่อเหล็ก ทำให้การเข้าไปสูบน้ำในถ้ำหลวงทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากท่อพีวีซีน้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่นในการเข้าพื้นที่เล็กๆ มากกว่าท่อเหล็ก
“ความสำเร็จในการช่วยเหลือเด็กๆ ไม่ได้เกิดจากผมคนเดียว แต่เกิดจากทุกคน ทั้งชาวสุโขทัย ลพบุรี ชาวนา ชาวสวน ถึงแม้จะไม่ได้มาที่ถ้ำแต่ทุกคนช่วยเหลือเต็มที่ ผมดีใจที่ช่วยเด็กๆ ออกมาได้ และภูมิใจที่ผมเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และองค์กรที่มีชื่อเสียง เวลา 2 วัน 2 คืนที่ผมอยู่แต่ในถ้ำ เป็นความรู้สึกที่ผมไม่ลืม และผมคิดถึงคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ให้เราช่วยกันปิดทองหลังพระ”