“ฐากร” เร่งเครื่อง 5G ชงเปิดประมูลใบอนุญาต 2 รูปแบบ พร้อมแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลระยะยาว เล็งสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายฯถึงปี 65
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช.ในปี 2562 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายการดำเนินงานของสำนักงานกสทช. ให้กับผู้บริหารของสำนักงาน เพื่อผลักดันให้เกิดผลจริงใน 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.สนับสนุนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G โดยจะทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ให้สะท้อนความต้องการและสมเหตุสมผล เหมาะสมกับบริบทอุตสาหกรรมและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ของคลื่นที่ประมูลไปแล้ว และคลื่นที่จะนำมาประมูลใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้ภาคเอกชน
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่น 5G ให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ เช่นในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G
ขณะเดียวกัน จะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ คลื่น 700 MHz , 2.6 GHz , 3.5 GHz, 28 GHz และดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามประกาศซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 โดยมีเป้าหมายในการเรียกคืนคลื่น 2.6 GHz เป็นลำดับแรก
2.แก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว โดยจะปรับปรุงการใช้คลื่น 700 MHz และมีมาตรการเยียวยาผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลและผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) โดยสำนักงานฯ เห็นว่าควรสนับสนุนการออกอากาศทีวีดิจิทัลไปจนถึงปี 2565 เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน และสนับสนุนการสำรวจความนิยมแบบใหม่ (Rating) เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการสำรวจความนิยม
3.จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อรองรับ ม.60 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน” ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ให้กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด
4.ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว และในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่จะทราบตำแหน่งที่ตั้งและสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ระงับและจัดการเหตุการณ์ได้อย่างประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์
5.เร่งรัดสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สตช. กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย