รู้หรือไม่? ขึ้นทะเบียน “หมา-แมว” เงินเข้ารัฐ 2,500 ล้านบาท

อื้ออึงกันไปทั้งเมือง หลังจากเมื่อวานนี้ (10 ต.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้ง กำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง เริ่มต้นที่ “สุนัข” และ “แมว” จะต้องนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนกับท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. เทศบาล กทม.และพัทยา

โดยเจ้าของสุนัขและแมวจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน ตัวละ 450 บาท แบ่งเป็น ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน ฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ ฉบับละ 100 บาท และค่าเครื่องหมายประจำสัตว์ ตัวละ 300 บาท หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 25,000 บาท

แม้ว่าการขึ้นทะเบียน “หมา-แมว” จะยังไม่มีผลบังคับใช้ตอนนี้ เพราะยังต้องรอให้กฎหมายได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) ก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจนานเป็นปี แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามว่า ข้อกำหนดดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติหรือบังคับได้จริงหรือไม่

เริ่มตั้งแต่การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนฯ “หมา-แมว” ตัวละ 450 บาท มีคำถามว่าค่าธรรมเนียมที่กำหนดแพงเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะค่าเครื่องหมายประจำสัตว์ ตัวละ 300 บาท

ส่วนเงินที่เก็บจากค่าขึ้นทะเบียนฯ ขณะนี้ก็ยังไม่คำตอบที่ชัดเจนว่า จะตกอยู่กับท้องถิ่นหรือส่วนกลาง หรือจะตกอยู่กับใคร และจะนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง

เพราะถ้าดูตามฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว กรมปศุสัตว์ พบว่า ในการสำรวจปี 2561 (รอบที่ 2) มีการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวทั้งสิ้น 5.5 ล้านตัว แบ่งเป็น สุนัขที่มีเจ้าของ 4.2 ล้านตัว และสุนัขไม่มีเจ้าของ 8,477 ตัว ส่วนแมวที่มีเจ้าของมีจำนวน 1.3 ล้านตัว เป็นแมวที่ไม่มีเจ้าของ 4,768 ตัว

หากเจ้าของนำสุนัขและแมวทุกตัวมาขึ้นทะเบียน เม็ดเงินค่าธรรมเนียมตรงนี้จะสูงถึง 2,475 ล้านบาท หรือคิดตัวเลขกลมๆก็ 2,500 ล้านบาท สำหรับเปิดการขึ้นทะเบียนครั้งแรกทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวตัวละ 450 บาท ยังส่งผลกระทบอื่นๆตามมาอีกไม่น้อย

เช่น กรณีที่เจ้าของบางรายไม่ต้องการรับภาระตรงนี้ ก็อาจจะนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย หรือคนบางคนที่เมตตารับเลี้ยงสุนัขและแมวที่ถูกทอดทิ้งบางคราวหลายสิบตัว บางคราวเป็นร้อยตัว หากต้องมาแบกรับภาระค่าขึ้นทะเบียนอีก ก็อาจต้องปล่อยสุนัขและแมวไป

ผลที่ตามมา คือ จะมีสุนัขและแมวจรจัดถูกทิ้งเพิ่มขึ้นอีกมาก และล่าสุดก็เริ่มมีข่าวคราวชาวบ้านนำสุนัขและแมวไปปล่อยทิ้งตามวัดกันแล้ว

นอกจากนี้ แม้ว่าร่างกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ฯฉบับนี้ จะกำหนดว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียน ไม่ให้รวมถึงส่วนราชการและ “สถานสงเคราะห์สัตว์” ซึ่งกรณีของ “วัด” ที่รับเลี้ยงสุนัขและแมวจรจัด เพราะมีคนนำมาปล่อยทิ้งไว้ จะเข้านิยามสถานสงเคราะห์สัตว์หรือไม่

หากวัดไม่เข้าเกณฑ์สถานสงเคราะห์สัตว์ ทางวัดและพระจะต้องรับภาระในการนำสุนัขและแมวภายในวัดไปขึ้นทะเบียนหรือไม่

ขณะเดียวกัน โทษของการที่เจ้าของไม่นำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ และแทนที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาทอดทิ้งสัตว์ แต่กลับกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์ถูกทอดทิ้งเสียเอง

แม้ว่าล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะสั่งให้กรมปศุสัตว์ดึงร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไปทบทวน โดยเฉพาะในประเด็นอัตราค่าปรับ และค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนที่ต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน

แต่ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วรูปร่างหน้าตาของร่างกฎหมายฉบับนี้จะออกมาเป็นอย่างไร และหากยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว รัฐบาลก็ต้องตอบให้ชัดจะรับมือผลกระทบต่างๆที่ตามมาอย่างไร

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า