ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากที่ดินฯ หวังดูแลเจ้าของที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ระบุอายุสัญญาขายฝากต้องไม่ต่ำกว่า 1 ปี และต้องให้ “จนท.รัฐ” ตรวจสอบก่อน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัญมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (18 ก.ย.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. ….เพื่อคุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝากที่ดินและที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินฯ มีรายละเอียดดังนี้
1.กำหนดบทนิยามของคำว่า “ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม” “ที่อยู่อาศัย” และ “รัฐมนตรี” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
2.กำหนดให้การขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ต้องใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.นี้ และเป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งให้การทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยจะต้องได้รับการตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้ หากมีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับขายฝากในภายหลัง ต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะมีผลใช้บังคับ
3.กำหนดให้การทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยจะกำหนดระยะเวลาไถ่ที่ดินต่ำกว่าหนึ่งปีมิได้ โดยการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ขายฝากที่จะไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่
4.กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ซื้อฝากและผู้ขายฝาก ได้แก่ กำหนดให้ผู้ซื้อฝากมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดระยะเวลา และกำหนดอัตราค่าสินไถ่ให้ชัดเจนหากไม่ได้กำหนดให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
กำหนดให้ผู้ซื้อฝากสามารถเรียกหรือรับประโยชน์ตอบแทนได้ กรณีที่ได้กำหนดสินไถ่เท่ากับหรือต่ำกว่าราคาขายฝากและผู้ขายฝากยังคงเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินที่ขายฝาก
กำหนดให้ทรัพย์สิน ซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่และหากผู้ซื้อฝากบอกปัดหรือหลีกเลี่ยง หรือมีเหตุขัดข้องไม่อาจรับไถ่ได้ ให้ผู้ขายฝากวางสินไถ่ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์
กำหนดให้ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม ผู้รับโอนทรัพย์สินหรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น ใช้สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้
กำหนดเงื่อนไขมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กำหนด รวมทั้งกำหนดค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายฝากจะต้องชำระให้แก่ผู้ซื้อฝากเมื่อครบระยะเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามสัญญาและให้ผู้ซื้อฝากในการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายฝาก
และกำหนดสิทธิของผู้ขายฝากในการได้รับทรัพย์สินที่ไถ่คืนไปโดยปลอดจากสิทธิใดๆที่ผู้ซื้อฝากได้ก่อไว้
5.กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ ตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาและเอกสารหลักฐานให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม ตามที่กฎหมายกำหนด ,ชี้แจงรายละเอียดของสัญญา สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังให้คู่สัญญาทราบโดยละเอียด, ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ,มีอำนาจเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูล หรือให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
6.กำหนดให้การชำระเงินตามสัญญาขายฝากต้องกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบจำนวนเงินและเงื่อนไขในสัญญาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการรับเงินไว้เป็นสำคัญ หากมีกรณีที่ผู้ซื้อฝากชำระเงินให้แก่ผู้ขายฝากไม่ครบตามราคาขายฝากที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าจำนวนเงินที่ผู้ขายฝากได้รับไปจริงเป็นราคาขายฝาก
7.กำหนดให้พ.ร.บ.นี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ