สบน.แจงเงินกู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ย้ำกู้เงินจากต่างประเทศแค่ 20% อีก 80% จะกู้เงินในประเทศ เน้น “กู้ระยะยาว-ดอกเบี้ยต่ำ-ไม่ผูกมัด”
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการกู้เงินจากจีน สำหรับลงทุนโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 1.79 แสนล้านบาทนั้น สบน.ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวจะกู้เงินจากแหล่งเงินในประเทศเป็นหลัก คือ ประมาณ 80% ของวงเงินรวมโครงการ และอีก 20% ของวงเงินโครงการ จะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ
“โครงการนี้มีแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่ง โดยจะใช้แหล่งเงินทุนในประเทศเป็นหลัก คือ ประมาณ 80% ของวงเงินรวมโครงการ และจะใช้เงินกู้ต่างประเทศสำหรับรายการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศและใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 20% ของวงเงินโครงการ ในการนี้กระทรวงการคลังจะดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมที่มีเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้ในประเทศ เช่น มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และอายุเงินกู้ยาว รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ”นางจินดารัตน์กล่าว
นางจินดารัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของการกู้เงินสำหรับลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ กระทรวงการคลังคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ และกรอบการบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เป็นต้น นอกจากนี้ หากพิจารณาประเด็นทุนสำรองระหว่างประเทศ พบว่า ณ สิ้นเดือนพ.ย.2561 ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 203,153.03 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางจินดารัตน์ ย้ำว่า การลงทุนโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ได้ผ่านการวิเคราะห์จากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วว่า จะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการดำเนินโครงการ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านลดต้นทุนค่าขนส่งสนับสนุนกระจายความเจริญและรายได้ไปสู่ภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (Logistics Hub) ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2562 มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้การกู้เงินเพื่อลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา 166,342 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งโครงการ 179,412 ล้านบาทนั้น สามารถกู้เงินได้ทั้งจากแหล่งเงินในประเทศและแหล่งเงินจากต่างประเทศ จากเดิมที่ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 กำหนดให้กู้เงินในประเทศเท่านั้น