“บิ๊กฉัตร” เตรียมชงกนช. 19 ธ.ค.นี้ ไฟเขียวสร้าง “อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมฯ” 9.8 พันล้าน แก้น้ำท่วม 4 เขต พร้อมปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย 3 พันล้าน ผันน้ำจาก “แม่น้ำยม” ลง “แม่น้ำน่าน”
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เสนอโครงการสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ จำนวน 2 โครงการ
ประกอบด้วย 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 เมตร ยาว 13.5 กิโลเมตร เริ่มจากคลองบางบัวลอดใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ไปออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 7 เพื่อลดระดับน้ำในคลองสอง คลองบางบัว คลองบางเขน และคลองเปรมประชากร
พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารรับน้ำ สถานีสูบน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตจตุจักร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินงานปีงบ 2562-2566 กรอบวงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ 9,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของพื้นที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯทั้งในสภาพปัจจุบันและอนาคต รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ได้แก่ นนทบุรีและปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากรได้อีกด้วย
และ2.โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ดำเนินการปีงบประมาณ พ.ศ.2562-2567 วงเงินเบื้องต้น 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมของ จ.สุโขทัย และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม ด้วยการระบายน้ำจากแม่น้ำยมบางส่วนไปลงแม่น้ำน่าน และผันน้ำเพื่อตัดยอดน้ำของแม่น้ำยมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง
โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองหกบาทเป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมทั้งปรับปรุงคลองยม-น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองสุโขทัยในฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำในคลองไว้ใช้ประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสายในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 7,300 ไร่