“รมช.คลัง” เผยเตรียมเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สนช. พิจารณากลางเดือน พ.ย.นี้ เก็บภาษีบ้านหลังที่สอง “ล้านละ 200” ที่ดินว่างเปล่าเก็บเริ่มต้น 0.3%
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คาดว่าในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 และ 3 เพื่อให้กฎหมายประกาศทันปีนี้ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับดังกล่าว ยังคงประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ที่ 4 ประเภทเช่นเดิม คือ ที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่ปรับอัตราภาษีลดลงจากเดิม
ประกอบด้วย 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร สำหรับบุคคลธรรมดาหรือรายเล็ก หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะเรียกเก็บในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท โดยคิดอัตรา 1 ล้านบาท ละ 100 บาท เช่น ถ้าที่ดินมูลค่า 60 ล้านบาท จะเก็บภาษี 1,000 บาท/ปี หรือหากที่ดินมูลค่า 70 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาท/ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีและลดผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย กฎหมายจะยกเว้นการเก็บภาษีในช่วง 3 ปีแรก
ส่วนกรณีที่ดินเพื่อการเกษตรของบริษัทนิติบุคคลรายใหญ่ เช่น ฟาร์ม หรือเกษตรกรรายใหญ่ จะเสียตั้งแต่บาทแรก และไม่มียกเว้นภาษี 3 ปี โดยคิดภาษีอัตรา 1 ล้านบาท ละ 100 บาท เช่น ที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 1,000 บาท/ปี หรือหากที่ดินมูลค่า 20 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาท/ปี
2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย กรณีบ้านหลังหลัก ราคาประเมินที่ดินบวกสิ่งปลูกสร้างมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะคิดภาษีในอัตรา 1 ล้านบาท ละ 200 บาท เช่น ถ้าบ้านราคาประเมิน 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาท/ปี ส่วนบ้านหลังรอง หรือบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป จะเก็บตั้งแต่ 1 บาทแรก โดยคิดภาษี 1 ล้านบาท ละ 200 บาท/ปี เช่น ถ้าบ้านมีมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 2,000 บาท/ปี
ส่วนกรณีอพาร์ตเมนต์และบ้านเช่านั้น ปกติแล้วเจ้าของที่ดินจะเป็นผู้เสียภาษี และเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.7% แต่จะมีการผลักภาระให้แก่ผู้เช่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ตกลงกัน
3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม จะเรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันไดอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.7% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และหากเดิมผู้เสียภาษีมีการเสียภาษีประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว แต่อัตราภาษีใหม่สูงกว่าเดิม ภาษีส่วนที่เกินนั้น กฎหมายกำหนดให้มีการบรรเทาภาระภาษีให้เป็นเวลา 4 ปี โดยภาษีปีแรกเก็บ 25% ปีที่สองเก็บ 50% ปีที่สามเก็บ 75% และปีที่สี่เก็บ 100%
ส่วนโรงเรียน โรงพยาบาล และสนามกีฬาเอกชน เช่น สนามกอล์ฟ กฎหมายจะมีการหักค่าลดหย่อนภาษีให้สูงสุดไม่เกิน 90% ของภาษีที่ต้องเสีย เช่น โรงเรียนเอกชนจะลดหย่อนภาษีให้สูงสุด เพราะถือเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบการศึกษาโดยเสมอภาค โดยจะออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อเป็นแนวทางให้ท้องถิ่นปฏิบัติตาม
และ4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า กฎหมายกำหนดให้เจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.3% ของราคาประเมิน และทุกๆ 3 ปี จะเสียภาษีเพิ่ม 0.2-0.3% จนครบ 27 ปี โดยมีอัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 3% หากยังไม่ทำประโยชน์ใดๆ จะเสียภาษีในอัตรา 3% แต่หากที่ดินดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์ในปีใดปีหนึ่ง ก็จะยกเลิกการเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว คาดว่าในปีแรก คือ ในปี 2564 ท้องถิ่นจะสามารถจัดเก็บรายได้ 2.9 หมื่นล้านบาท และนับไปอีก 4 ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้เพิ่ม 3.9-4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากร่างกฎหมายใหม่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก คือ มีทั้งการยกเว้นภาษี ลดอัตราภาษี และเพิ่มค่าลดหย่อน