ดัชนีเชื่อมั่นฯ ก.ย.ทรุดทั่วหน้า ห่วง “น้ำมันแพง-บาทแข็ง-นทท.จีนลด”

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย.ลดลง หลังผู้ประกอบการกังวล “น้ำมันแพง-บาทแข็ง” มองสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยืดเยื้อ ขณะที่หอการค้าฯ ระบุเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจีนลดลงโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นายสุพันธุ์ มงคงสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ว่า ดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 91.5 ลดลงจาก 92.5 เมื่อเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง

ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาความแออัดของท่าเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า ส่วนข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ผู้ประกอบการมองว่า มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้คงมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิต และต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเสนอให้ภาครัฐใช้ประโยชน์จากสงครามการค้า ในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานไทย

นอกจากนี้ ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการ “Made in Thailand” และร่วมมือกับเอกชน ผู้บริโภคในประเทศ และผู้นำเข้าในต่างประเทศ ผลักดันให้เรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.6 เมื่อเดือนก่อน เนื่องจากมีความชัดเจนของภาครัฐเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จะทำให้อุปสงค์ของสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการหอการค้าทั่วประเทศ ว่า ดัชนีฯอยู่ที่ระดับ 48.4 ลดลงจาก 49.8 เมื่อเดือนก่อน ส่วนมุมมองต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตช่วง 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 จากระดับ 51.9 เมื่อเดือนก่อน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ เช่น ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลต่อการชะลอตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของค่าพลังงาน และปัญหาราคาสินค้าเกษตร ทั้งยาง ปาล์ม ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ คือ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทปรับตัวดีขึ้น การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตมากขึ้น และการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยฯประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 4.6% ส่วนปีหน้าจะเติบโต 4.0-4.5% ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินจากการเลือกตั้งที่จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินหมุนเวียนในช่วงการเลือกตั้งเดือนก.พ.2562 กว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และเม็ดเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานหอการค้าไทย และประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า เอกชนมีข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐ โดยขอให้ช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ต่ำต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งในส่วนของปาล์มน้ำมันนั่น เอกชนต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำปาล์มไปผลิตเป็นไบโอดีเซลมากขึ้น และป้องกันการลักลอบนำปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกรณีเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จ.ภูเก็ต และการทำร้ายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง และทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในภาคใต้ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2561 หายไป 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น ทางเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า