ตั๋วฉีก (ไม่) ตอบโจทย์? เก็บเงินค่าจอด บนถนนกทม. 66 สาย

วิจารณ์กันทั้งเมือง หลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศกรุงเทพฯ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์บนถนน 66 สาย เช่น รถจักรยานยนต์ เก็บชั่วโมงแรก 5 บาท ชั่วโมงต่อไปเก็บ 10 บาท รถยนต์ไม่เกิน 4 ล้อ เก็บชั่วโมงแรก 10 บาท ชั่วโมงต่อไปเก็บ 20 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ 27 ก.ย.นี้

จะว่าไปแล้วประกาศกรุงเทพฯฉบับนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง เพราะก่อนหน้านี้ กทม.เคยออกประกาศ เรื่อง กำหนดที่จอดยานยนตร์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนตร์ มาแล้ว 5 ฉบับ โดยฉบับแรกประกาศใช้เมื่อปี 2537 ในสมัยที่ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าฯกทม.

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของประกาศกรุงเทพฯ เรื่องกำหนดที่จอดรถและการเก็บค่าที่จอดรถ ฉบับปี 2537 และฉบับที่เพิ่งบังคับใช้ล่าสุด (ฉบับที่ 6) พบว่า แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ทั้งรายชื่อถนน และอัตราการเรียกเก็บค่าจอดรถของยานยนต์แต่ละประเภท จะแตกต่างกันบ้าง ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บค่าจอดบริเวณเขตทางถนนราชดำริ

“เดิมเขตทางถนนราชดำริ กทม.จะไม่เก็บค่าที่จอดรถในวันอาทิตย์ แต่ประกาศฉบับนี้ออกมาเพื่อแจ้งว่า กทม.จะเก็บค่าที่จอดในวันอาทิตย์ด้วย และจะยกเว้นการจัดเก็บค่าจอดรถบริเวณเขตทางถนนราชดำริ สำหรับยานยนต์ทุกประเภท เฉพาะช่วงเวลา 04.00-08.00 น.ของทุกวัน” มาลินี เธียรสุนทร ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักคลัง กรุงเทพมหานคร ระบุ

มาลินี บอกด้วยว่า การเก็บค่าที่จอดรถบนถนนทั้ง 66 สาย เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว โดยมีพนักงานของกทม. ที่สวมเครื่องแบบและติดบัตร ทำหน้าเก็บที่จอดรถ ซึ่งเมื่อเก็บเงินแล้วพนักงานจะออก “ตั๋ว” ที่จอดรถให้เจ้าของรถ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารูปแบบและวิธีการในเก็บเงินค่าที่จอดรถของกทม. ที่ใช้ระบบ “ตั๋วฉีก”  จะพบว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง และเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลได้ โดยเฉพาะการเก็บค่าที่จอดรถบนถนนทั้ง 66 สาย

เพราะด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่เก็บค่าที่จอดรถของกทม. ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 70 คน และส่วนหนึ่งต้องแบ่งไปดูแลการเก็บเงินค่าจอดรถในอาคารจอดรถบางบำพู อาคารจอดรถสวนมะลิ จะเหลือเจ้าหน้าที่เก็บค่าจอดรถบนถนน 66 สาย ในสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณรถที่หมุนเวียนเข้ามาจอดรถแต่ละวันนับหมื่นคัน ทำให้การเก็บค่าที่จอดรถทำได้ไม่ทั่วถึง

เช่นเดียวกัน ในเรื่องการบันทึกเวลาการจอดรถและการจ่ายเงิน ปัจจุบันกทม.ไม่มีเครื่องบันทึกเวลา แต่ใช้การจดเวลาลงในบัตรค่าจอดรถ จึงไม่มีทางรู้ได้ 100% ว่า เจ้าของรถนำรถเข้ามาจอดตอนไหน และขับออกไปตอนไหน ต่างจากเมืองใหญ่ในต่างประเทศที่มีการติดตั้งเครื่องเก็บค่าที่จอดรถอัตโนมัติ 

ทั้งนี้ หากนับเฉพาะรายได้ค่าที่จอดรถบนถนน 66 สาย พบว่ากทม.เก็บค่าที่จอดรถได้ประมาณปีละ 11 ล้านบาท และมีเพียงถนนเพียงสายเดียว คือ ถนนราชดำริเท่านั้น ที่มีระบบการออกตั๋วอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีรายได้ปีละ 7 ล้านบาท ส่วนถนนอีก 65 สาย มีรายได้รวมกันแค่ปีละ 4  ล้านบาท ในจำนวนนี้มีถนน 10 สาย ที่ไม่มีการเก็บค่าที่จอดรถ

ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2559) กทม.มีรายได้ค่าที่จอดรถรวม 499 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าจอดรถอาคารจอดรถบางบำพู 232 ล้านบาท อาคารจอดรถสวนมะลิ 94 ล้านบาท รายได้จากถนน 65 สาย 110 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 11 ล้านบาท และรายได้จากถนนราชดำริ สวนลุมพินี เพียงสายเดียว 61 ล้านบาท

สะท้อนได้ว่ารายได้ค่าจอดรถของกทม.ที่มาจากอาคารจอดรถทั้ง 2 แห่ง ซึ่งแม้จะมีพื้นที่จอดรถรวมกันไม่มาก และมีระบบเก็บเงินที่ชัดเจน แต่มีรายได้จากค่าจอดรถมากกว่าค่าจอดรถที่เก็บได้บนถนน 66 สาย เกือบ 2 เท่าตัว ที่สำคัญการใช้ระบบตั๋วฉีกและออกใบเสร็จเป็นค่าจอดรถบนถนน 66 สาย เรียกได้ว่าเป็นช่องทางที่เกิดการรั่วไหลได้ง่าย

หากกทม.ต้องการเก็บค่าจอดรถให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การติดตั้งเครื่องเก็บเงินค่าจอดรถอัตโนมัติอาจเป็นทางออก ขณะที่การติดตั้งเครื่องเก็บเงิน กทม.ต้องกำหนดจุดจอดรถบนถนนทั้ง 66 สายให้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นการจัดระเบียบการจอดรถไปในตัวด้วย 

นอกจากนี้ กทม.จะต้องมีคำตอบว่า จะมีวิธีการจัดการอย่างไรกับบรรดารถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียค่าจอดรถ และนำรถไปจอดบนถนนในซอย จนเกิดปัญหาจราจรติดขัดในซอยหรือจอดรถปิดทางออกประตูบ้าน

ดังนั้น การเก็บค่าที่จอดรถบนถนน 66 สาย ไม่ใช่แค่การออกประกาศฯแล้วบังคับใช้ไม่เต็มที่ และต้องทำมากกว่าการส่งเจ้าหน้าที่ไป “ฉีกตั๋ว” ค่าจอดรถ  

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า