พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค 4.0 เรียกว่าเปลี่ยนแปลงเร็วพอ ๆ กับเทคโนโลยี บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ จำต้องพลิกกลยุทธ์การทำการตลาดกันฝุ่นตลบไปด้วยเช่นกัน เพราะแม้บางครั้งจะดึงอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)หรือเซเลป ดาราดังที่มีแฟนคลับหรือยอดฟอลโลเวอร์หลักแสนมาช่วยทำตลาด ก็ยังแป้กไม่เป็นท่า เพราะคนเหล่านี้เริ่มมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อน้อยลง
ผลการสำรวจยืนยันว่า คนทั่วไปเกือบครึ่งไม่เชื่อว่า เซเลปดารา อินฟลูเอนเซอร์ที่มารีวิวสินค้านั้น ได้ใช้สินค้าก่อนรีวิวจริง และไม่ได้เพิ่มความน่าเชื่อถือมากกว่าโฆษณาที่คนธรรมดาโพสต์ทั่วไปโพสต์ เพราะจากงานวิจัยล่าสุดกว่า 1,000 ตัวอย่าง ของบริษัทอินเทจ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าผู้บริโภคยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งไม่เชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์ใช้สินค้าก่อนรีวิว โดยมีสัดส่วนความเชื่อผู้รีวิวหรืออินฟลูเอนเซอร์ไล่ตามลำดับอายุจากน้อยไปหามาก ดังนี้ 15-24 ปี เชื่อ 64% อายุ 25-34 ปี เชื่อ 60% อายุ 35-44 ปี เชื่อ 45% และอายุ 45-50 ปี เชื่อ 47% แต่สำหรับกลุ่มผู้บริโภคผู้หญิง ส่วนใหญ่คิดว่าการใช้ดารารีวิวเหมือนเป็นการจ้างโฆษณา
ในทางกลับกันผู้บริโภคกลับให้ความน่าเชื่อถือไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือนาโนอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามหรือมีเพื่อนแค่หลักพันมากขึ้น และอินฟลูเอนเซอร์ยิ่งระดับย่อยลงไปเท่าไรก็จะมีอิทธิพลหรือส่งผลต่อผู้ติดตามได้สูงกว่าโดยอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมากกว่า
การเลือกอินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญและหากเลือกผิดพลาดก็อาจส่งผลเสียกับแบรนด์ได้ ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่นักการตลาดไม่ควรละเลย
“ชวนา กีรติยุตอมรกุล”“ชวนา กีรติยุตอมรกุล” General Manager / Strategic Planning Director บริษัท Spore Bangkok เปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ทำให้นักการตลาดจำเป็นต้องมีข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่รอบด้านและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจากการพัฒนา WOMON2.0 หรือ Word Of Mouth Online Network 2.0 เครือข่าย Users แฟลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค WOMON2.0 ต้องเก็บข้อมูลที่เจาะลึกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัย และวัยเพิ่งเริ่มทำงาน ซึ่งสามารถลงลึกได้ถึงระดับสถาบันการศึกษา สถานที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ โดย WOMON 2.0 ขยายฐานไปยัง Twitter มากกว่า 50,000 Accounts ที่มีความเฉพาะทางไลฟ์สไตล์ใน 17 หมวด ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าในทุกประเภท เพื่อสร้างกลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก ผ่านช่องทางใหม่คือ Twitter และ Instagram ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ GEN Y
นอกจากนี้ WOMON 2.0 นี้ ยังมี Micro Influencers GEN Y ที่เป็น Real Consumer ใน Instagram อีกกว่า 300 Accounts ที่อยู่ในเครือข่ายและมีฐานข้อมูลประวัติแต่ละบุคคลแบบละเอียด รวมถึง Engagement หลังบ้านของแต่ละAccount ซึ่งมากกว่าข้อมูลทั่วไปที่มีการเก็บกันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้แบรนด์จะสามารถทำการตลาดได้อย่างเหมาะสม

ด้าน “จิณณ์ เผ่าประไพ” Partner and managing director at CJ WORX กล่าวว่า แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น เฟซบุ๊กมีการเปลี่ยนอัลกอริทึ่ม เน้นให้เห็นโพสต์ของเพื่อนเรามากกว่าเพจต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึง นักการตลาดจึงมองหาเครื่องมือที่จะช่วยเติมเต็ม ซึ่งทวิตเตอร์คือแทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะผู้บริโภคชอบเสพข้อมูลเรียลไทม์มากขึ้น เพื่อให้อยู่ในกระแสและได้ข้อมูลอินไซต์ จะรู้สึกว่าตัวเองได้รู้ก่อนใครและมีข้อมูลมากกว่าผู้อื่น
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน นักการตลาดเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน การปั้นแบรนด์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะไม่ใช่แค่พฤติกรรมคนเท่านั้นที่จะเปลี่ยน เครื่องมือในยุคดิจิตอลก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน นี่คือความท้าทายสำหรับนักการตลาดยุค 4.0