“ก.พลังงาน” ยันเดินหน้าเปิดประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” 25 ก.ย.นี้ ตามเดิม แม้ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ยื่นฟ้อง “ศาลปกครอง” เอาผิดคกก.ปิโตรเลียม ปิดช่องนำระบบจ้างผลิตมาใช้
นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันว่าจะเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐ รวมถึงเอกสารแสดงคุณสมบัติ สำหรับการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ (G1/61) และแหล่งบงกช (G2/61) ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ตามกำหนดเดิมที่วางไว้
“เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ออกระเบียบและวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วประเทศ โดยไม่มีระบบสัญญาจ้างผลิต (SC) โดยขณะนี้ศาลยังไม่มีการประทับรับคำฟ้อง และมีคำสั่งให้กระทรวงพลังงานชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกระทรวงได้ขอเลื่อนการชี้แจงข้อมูลต่อศาลออกไปก่อน เพราะต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสาร”นายธรรมยศกล่าว
นายธรรมยศ ย้ำว่า การเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยใช้ระบบ PSC ดังกล่าว เป็นไปตามการประเมินปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ และข้อมูลในเชิงเทคนิคก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวว่า เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเอาผิดคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ไม่ทำตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เนื่องจากกฎหมายเปิดกว้างให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศทำได้ 3 แบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบ PSC และระบบ SC แต่คณะกรรมการกลับจำกัดทางเลือกในการประมูล โดยไม่ได้กำหนดให้ใช้ระบบ SC แต่อย่างใด
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า พรรคฯขอคัดค้านทีโออาร์เปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ ภายใต้ระบบ PSC และขอให้ชะลอการเปิดประมูลที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ออกไปก่อน เนื่องจากการใช้ระบบ PSC ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ ซึ่งพรรคฯเห็นควรให้กระทรวงพลังงานปรับแก้ทีโออาร์ โดยนำระบบจ้างผลิต (SC) มาใช้ในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งแทน
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการประมูลในวันที่ 25 ก.ย.นี้ออกไปก่อน และแก้ไขทีโออาร์ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างผลิต และตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐถือหุ้นให้เรียบร้อยก่อน จึงจะทำการประมูล เพราะผลประโยชน์ที่จะได้จากทีโออาร์คนละแบบนี้อาจมีมูลค่าต่างกันกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี”นพ.ระวีกล่าว