ดัชนีฯเชื่อมั่นหอการค้าไทยสูงสุดในรอบ 8 เดือน หลัง “เศรษฐกิจเติบโตดี-ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น-ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชัดเจน” พร้อมระบุเศรษฐกิจภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวผสมคลายล็อกการเมือง เพิ่มความเชื่อมั่นนักธุรกิจ
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือน ส.ค.2561 อยู่ที่ระดับ 49.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 48.6 และเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการทำสำรวจเมื่อเดือน ม.ค.2561 หรือสูงสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตช่วง 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 51.9 จากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 51.3
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยในเดือน ส.ค. คือ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ขยายตัว 4.6% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8% และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.6% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้นในบางพื้นที่ การท่องเที่ยวและการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และความชัดเจนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ เช่น ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศ การขยายตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เกษตรกรขาดแคลนปัจจัยการผลิตในการบำรุงพืชผลทางการเกษตร และปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศ เป็นต้น
นางเสาวณีย์ ระบุว่า ผลจากการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค แยกได้ ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าการบริโภคของประชาชน และสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลต่อปัญหาแรงงานต่างด้าวและกฎหมายที่เข้มงวด, ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับที่ไม่จูงใจต่อการลงทุน อีกทั้งสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
2.ภาคกลาง พบว่า การส่งออกสินค้าผ่านแดนเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวในช่วงวันหยุดเทศกาล และราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังพบปัญหาว่าประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมีราคาแพง รวมทั้งเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
3.ภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาค กิจกรรมการส่งออกสินค้าทั้งแนวชายแดน และท่าเรือขนส่งสินค้า ความต้องการสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในด้านความปลอดภัยที่ลดลง, การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และประชาชนมีการใช้จ่ายลดลง
4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัจจัยบวกที่สำคัญจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น การส่งเสริมและการจัดหาตลาดสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาเมือง และการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองในจังหวัดสำคัญของภาคอีสาน
5.ภาคเหนือ พบว่าการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยมีการลงทุนในโครงสร้างโลจิสติกส์ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลยังมีเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาขาดแคลนแรงงานและอุปสรรคในการจดทะเบียนแรงงาน และปัจจัยกดดันจากผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น
6.ภาคใต้ ได้รับปัจจัยหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่ภาคใต้ การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยังมีความกังวลในปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ลดลง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการจ้างงานลดลง โดยเฉพาะแรงงานในภาคประมง
“ที่เคยกังวลว่าเศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัว แต่ประชาชนยังบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดีนั้น ผลสำรวจครั้งนี้จะเห็นได้ว่าแต่ละภูมิภาคเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน เพียงอาจจะยังฟื้นตัวไม่เท่ากัน นำโดยภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ ปริมณฑล เนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีปัจจัยบวก ปัจจัยลบที่แตกต่างกันไป จึงทำให้การกระจายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากัน”นางเสาวณีย์กล่าว
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนถัดไป มีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคลายล็อกทางการเมือง ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้อีกทาง
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยการต้องมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน และขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการขาดแรงงานที่มีทักษะ โดยภาครัฐ ต้องส่งเสริมทักษะด้านอาชีวศึกษาให้กับแรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน