“สภาพัฒน์” จับตาหนี้ครัวเรือนพุ่ง หลังสินเชื่อเช่าชื้อรถยนต์รถยนต์เพิ่มชัดเจน หวั่นปัจจัยภายนอกผันผวนกระทบความสามารถในการชำระหนี้
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2561 ว่า ภาวะหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีหนี้สินคงค้าง 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.5% แต่น้อยกว่าไตรมาส 1/2561 ที่สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีอยู่ที่ 77.7%
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น มาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 8.4% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าหรือซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ และที่อยู่อาศัย ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 12.5% 8.7% และ6.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ มีสัญญาณเพิ่มขึ้นชัดเจนจากการเริ่มสิ้นสุดเงื่อนไขการถือครองรถยนต์อย่างน้อย 5 ปี
“มูลค่าหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากมีปัจจัยภายนอกมากระทบ อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อซื้อและเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีการจัดการส่งเสริมการขายที่จูงใจผู้บริโภค ส่งผลให้หนี้ดังกล่าวขยายตัวต่อเนื่อง”นายทศพรระบุ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ เพราะหากพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ จะพบว่าสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เสียอยู่ที่ 2.73% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.72%
ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มีมูลค่า 9,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป ของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 7,200 ล้านบาท ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายทศพร กล่าวว่า ในส่วนการจ้างงานพบว่า ไตรมาส 3/2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.7% โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2%
“แนวโน้มสถานการณ์การจ้างงานละตลาดแรงงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีทิศทางที่ดี ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยาตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผ่อนคลายของแรงกดดันต่อกำรส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง”นายทศพรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตำมและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความล่าช้าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว