ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยครัวเรือนไทยมีหนี้สินแตะ 12.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่กู้ซื้อ” บ้าน-รถยนต์” ขณะที่หนี้สินภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เหตุเศรษฐกิจดีขึ้น
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2561 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท เติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่เติบโต 5.2% ในไตรมาสแรก โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
“ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2561 ที่เพิ่มขึ้น 1.71 แสนล้านบาท หากนับเฉพาะการขยับขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงิน จะพบว่ามีสัดส่วนรวมๆกันถึง 38% ของยอดคงค้างหนี้ฯที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2561 ขณะที่การเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากฐานข้อมูลของระบบธนาคารพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วน 18.6% ของยอดคงค้างฯที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2/2561”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาส 2/2561 ลดลงจากสัดส่วนประมาณ 78% ในช่วงปลายปี 2560 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การขยับขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว สะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สวนทางกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ที่มีบทบาทลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2561
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินว่าแนวโน้มของหนี้ครัวเรือน โดยระบุว่า อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดีขึ้น อาจส่งผลทำให้ยังคงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2561 นี้ ขยับลงต่อเนื่องมาอยู่ในกรอบ 77-78% จากระดับ 78% ต่อจีดีพีในปี 2560 อย่างไรก็ดี กรอบประมาณการใหม่ดังกล่าวยังสูงขึ้นกว่ากรอบเดิมที่ 76.5-77.5% ต่อจีดีพี โดยเป็นผลมาจากการเร่งตัวของยอดหนี้คงค้างฯตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้
“การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนใหญ่ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่มีโอกาสขยับขึ้นในระยะข้างหน้า อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม แม้ปัจจัยดังกล่าวอาจจะไม่กระทบต่อทิศทางของหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมากนัก หากเศรษฐกิจไทยยังคงประคองการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินถึงผลกระทบจากแนวนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า อาจจะยังไม่มีผลกระทบมากนักต่อภาพรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินในปี 2561 แต่อาจทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้น ก่อนมาตรการกำกับสินเชื่อบ้านของธปท. จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนว่า ครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยมีสถานะทางการเงินที่มีความเปราะบางมากขึ้น โดยสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้เพิ่มสูงขึ้นมาที่ 29.1% ในปี 2560 จากระดับ 27.2% ในปี 2556 และไม่ใช่เพียงครัวเรือนในกลุ่มรายได้ค่อนข้างน้อยเท่านั้นที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น แต่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลาง-บนด้วย
“ครัวเรือนที่มีหนี้บ้านหรือต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านในปีหน้า จะต้องมีภาระการผ่อนชำระต่อเดือนเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยหากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้น 0.50% จะทำให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือน เพิ่มขึ้นมากกว่า 4% ซึ่งเป็นไปได้ว่าหลังจากพ้นปีนี้ไปแล้ว ครัวเรือนบางส่วนจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในปีนี้ และเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่มีภาระผูกพันหลายปีจากนี้”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ