ยังคงกระหน่ำแจกไม่ยั้งหวังซื้อใจชาวบ้าน
เมื่อ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในสัปดาห์หน้า (11 ก.ย.) ให้พิจารณาเรื่องการคืนภาษีมูลค่า (แวต) ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน นาน 5-6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย.นี้
เงื่อนไข คือ ผู้ถือบัตรฯที่ซื้อสินค้าประมาณเดือนละ 8,000 บาท จะได้รับเงินคืนแวตไม่เกิน 500 บาท โดยเงินคืนแวตจะเข้าไปอยู่ในบัตรสวัสดิการฯ ที่มีลักษณะเป็นกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถนำไปใช้จ่ายหรือกดเป็นเงินสดได้ หากยังไม่ได้ใช้เงินในเดือนนั้นหรือยังใช้ไม่หมด ก็จะสะสมไว้ในเดือนถัดไป
การคืนแวตในระยะแรก จะคืนเมื่อมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น
แต่กระทรวงการคลังมีแนวคิดให้การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เช่น บิ๊กซี โลตัส และร้านค้าทั่วไป ได้รับเงินคืนแวตด้วย โดยต้องเซ็ทระบบเพื่อแยก “ภาษีแวต” ออกจากราคาสินค้า รวมทั้งมีระบบบันทึกข้อมูลการซื้อสินค้าลงไปในบัตรสวัสดิการฯ
อย่างไรก็ดี หากผู้ถือบัตรทั้ง 11.4 ล้านคน ต่างพร้อมใจกันซื้อสินค้าผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐเดือนละ 8,000 บาท และได้เงินคืน 500 บาทกันทุกคน
รายได้ภาษีที่ควรเข้าคลังจะหายไปทันทีเดือนละ 5,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.85 หมื่นล้านบาท หากมาตรการคืนแวตมีผลบังคับนาน 5 เดือน
“เงินคืนแวตที่ถูกนำไปใช้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน และบรรเทาภาระให้ผู้ถือบัตรอีกทางหนึ่ง” รมว.คลังกล่าว

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ครม.ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 โดยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่ลงทะเบียนฝึกอบรมอาชีพกับหมอประชารัฐ ได้รับวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นเพิ่มอีกคนละ 100-200 บาทต่อเดือน ในช่วง 4 เดือนหรือตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.2561
แต่ที่พิเศษกว่าเดิม คือ เงินที่เพิ่มให้ส่วนนี้ สามารถกดเป็นเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของแบงก์กรุงไทยได้ ถ้าเงินเหลือก็สะสมไว้ใช้ในเดือนถัดไปได้
รัฐบาลประเมินว่าการแจกเงินคนถือบัตรสวัสดิการฯเฟส 2 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 4.7 ล้านคน โดยได้อนุมัติงบสำหรับโครงการในเฟสนี้ 3.56 หมื่นล้านบาท
เทียบกับก่อนหน้านี้ หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560-11 มิ.ย.2561 ที่รัฐบาลมีภาระจากการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยเป็นเงิน 3.07 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งไม่หยุด และมีแนวโน้มวิ่งไปถึง 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายตรึงน้ำมันและราคาก๊าซหุง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน
ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน มีมติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 30 สตางค์ เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.
คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะต้องใช้เงิน 1,000 ล้านบาท ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท
ส่วนการตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. กบง.มีมติให้เริ่มอุดหนุนมาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.2561 และขณะนี้มีเงินไหลออกกองทุนเดือนละ 804 ล้านบาท ส่งผลให้ล่าสุดเงินกองทุนในส่วนของบัญชีก๊าซหุงต้มติดลบแล้ว 3,337 ล้านบาท
ในขณะที่กบง.ได้ขยายกรอบวงเงินที่ใช้อุดหนุนก๊าซหุงต้มเป็น 7,000 ล้านบาทในปีนี้ จากเดิมที่กำหนดเพดานอุดหนุนไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่านโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จาก 2 นโยบายหลัก รวมๆแล้วใช้เงินเบ็ดเสร็จสูงถึง 1.02 แสนล้านบาท เลยทีเดียว