เซเว่นฯ “รับฝาก-ถอนเงิน” ได้ไม่คุ้มเสีย?

อีกเพียงเดือนเศษ หรือตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.นี้  “เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven)” ร้านสะดวกซื้อที่มีกว่า 1.1 หมื่นสาขาทั่วประเทศ จะเปิดรับ “ฝาก-ถอนเงิน” ตลอด 24 ชั่วโมง ในฐานะเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ หรือ “แบงก์กิ้งเอเยนต์” ของแบงก์ออมสิน

เฟสแรก เซเว่นฯ จะให้บริการ “รับฝากเงิน” โดยไม่คิดค่าบริการ แก่เยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7-20 ปี ซึ่งฝากเงิน ณ จุด บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสใน เซเว่นฯ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนผู้ใช้บริการที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จะคิดค่าบริการ 15 บาทต่อรายการ

เฟสที่ 2 เซเว่นฯ จะให้บริการ “รับฝาก-ถอนเงิน” ผ่านแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้ง “MyMo” ณ จุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส รับฝากเงินสูงสุด 30,000 บาทต่อรายการ และถอนเงินได้ตั้งแต่ 1-5,000 บาทต่อรายการ ในช่วง 08.00- 22.00 น. คิดค่าบริการ 15 บาทต่อรายการ

บริการรับฝาก-ถอนเงิน ผ่านแบงก์กิ้งเอเยนต์ ไม่ใช่เรื่องใหม่

หากไม่นับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับอนุญาตให้จากแบงก์ชาติเมื่อปี 2553 ให้เป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ และเปิดให้บริการ “ฝาก-ถอน-โอน” ให้แก่ลูกค้า 6 ธนาคาร ตั้งแต่เดือนเม.ย.2554 ก่อนจะขยายไปยังอีกหลายธนาคารในเวลาต่อมา

มีเอกชน 5 ราย ได้รับอนุญาติจากแบงก์ชาติให้เป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ ได้แก่

1.บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส เจ้าของ “ตู้บุญเติม” 1.3 แสนตู้ทั่วประเทศ

2.บริษัท เวดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น เจ้าของ “ตู้เอเจเติมสบาย”

3.บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส เจ้าของ “จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส” 1.3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

4.บริษัท แอร์เพย์ ประเทศไทย เจ้าของแอปพลิเคชัน “AirPlay”

และ5.บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เจ้าของเซเว่นฯ ซึ่งเป็นรายล่าสุดที่ได้รับอนุญาติให้เป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 3/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 6 มี.ค.2561

ปัจจุบันเอกชน 4 รายแรก เปิดให้บริการรับฝากเงิน รวมถึงรับชำระค่าบริการต่างๆ แต่ยังไม่มีการให้บริการถอนเงิน ซึ่งพบว่ายอดรับฝากมีน้อยมาก เพราะค่าบริการยังสูงอยู่ เช่น กรณีโอนเงินผ่านตู้บุญเติมเริ่มต้นที่ 1-1,000 บาท ค่าบริการอยู่ที่ 30 บาทต่อรายการ

ส่วนเซเว่นฯ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากแบงก์กสิกรไทยเป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ เมื่อเดือน มี.ค.2561 และเริ่มให้บริการเบิกถอนเงินสดในพื้นที่ห่างไกล เช่น หากบุตรหลานต้องการโอนเงินไปให้ตายายในต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีบัญชีธนาคาร ให้การโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกสิกรไทย แล้วให้ตายายไปรับเงินที่เซเว่นฯ โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนและแจ้งรหัสลับ 8 หลัก

ผลปรากฎว่าบริการถอนเงินดังกล่าว ไม่ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะผู้โอนต้องเสียค่าบริการสูงถึง 30 บาทต่อรายการ

จึงเกิดคำถามตามมาว่าการให้บริการฝาก-ถอนเงินสด ณ จุด บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสใน เซเว่นฯ จะได้รับความนิยมหรือไม่ และเซเว่นฯ จะมีวิธีการบริการจัดการพนักงานในร้านอย่างไร

เพราะการเรียกเก็บค่าบริการการฝากเงิน-ถอนเงินต่อรายการที่ 15 บาทต่อรายการ ถือว่าเป็นอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งไม่ต้องเสียค่าบริการหากโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มได้ทั่วประเทศ

ข้อมูลล่าสุดจากทีมวิเคราะห์ระบบการชำระเงิน ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือนส.ค.2561 มีบัญชีพร้อมเพย์ทั้งระบบ 44.5 ล้านบัญชี และหลังจากเปิดพร้อมเพย์ตั้งแต่ปี 2560 พบว่ายอดโอนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ล้านรายการต่อวัน

โดยเฉพาะหลังธนาคารต่างๆยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนข้ามธนาคารผ่อนช่องทางออนไลน์ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ ยอดโอนเงินพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ผลสำรวจยังพบว่า มนุษย์เดือนนิยมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ โอนเงินในช่วงสิ้นเดือน วันทำงาน ช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกงาน และโอนพร้อมเพย์ผ่านโมบายแบงก์กิ้ง

จะเห็นได้ว่าอัตราค่าบริการฝาก-โอนเงิน ใน เซเว่นฯ ไม่สามารถแข่งขันกับพร้อมเพย์ได้ ในขณะที่ระบบพร้อมเพย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ประเด็นถัดมา แม้ว่าปัจจุบันพนักงานเซเว่นฯ จะรับเงินสดจากลูกค้าที่มาจ่ายบิลต่างๆอยู่แล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และบัตรเครดิต ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากการฝากเงินเข้าบัญชี แต่ภาพลักษณ์ในเรื่องความน่าเชื่อถือที่มีน้อยกว่าพนักงานธนาคารมาก ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความไม่มั่นใจ

อีกทั้งในแต่ละวันพนักงานเซเว่นฯ ต้องยุ่งกับการทำหน้าที่ต่างๆในร้านตลอดทั้งวัน ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการฝากและถอนเงินได้ เพราะบริการรับฝากถอนเงินของแบงก์ ไม่มีใบแจ้งหนี้ที่มาพร้อมกับ “บาร์โค๊ด” เหมือนกับบิลชำระค่าสินค้า หรือใบแจ้งชำระหนี้บัตรเครดิต

ที่สำคัญ การที่เซเว่นฯ เปิดบริการรับฝาก-ถอนเงิน ยังทำให้ร้านเซเว่นฯ แต่ละสาขาต้องมีภาระในการสำรองเงินสดไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นทุนแล้ว ยังอาจทำให้เซเว่นฯ เสี่ยงต่อการถูกปล้นเช่นที่ปรากฎเป็นข่าวคราวต่อเนื่อง

กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ให้มุมมองกรณีร้านเซเว่นฯ เปิดรับฝากและถอนเงินให้ลูกค้าแบงก์ออมสิน ว่า “ถ้าเป็นเรื่องภาพลักษณ์ของพนักงานเซเว่นฯ กับพนักงานแบงก์ ก็คงเทียบกันไม่ได้ แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายคงคิดมาดีแล้ว”

ส่วนการที่แบงก์ออมสินตั้งเซเว่นฯเป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ และแบงก์อีกหลายแห่งกำลังจะทำตาม กอบศักดิ์ มองว่า แบงก์น่าจะเห็นเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะค่าบริการฝากถอนเงินใน เซเว่นฯ แพงกว่าตู้เอทีเอ็มและการโอนเงินผ่านอีแบงก์กิ้งมาก

“ถามว่าคนรุ่นใหม่ๆ จะมีใครไปฝากเงินถอนเงินที่เซเว่นฯหรือเปล่า เพราะการโอนเงินทางมือถือง่ายกว่า และยังฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามธนาคารด้วย ส่วนการทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มทุกวันนี้ ก็ทำได้มากกว่าการถอนเงิน โอนเงินแล้ว”กอบศักดิ์บอก

กอบศักดิ์ ประเมินว่า แม้ว่าหลายคนมองว่าการที่เซเว่นฯเปิดบริการรับฝากถอนเงินให้ลูกค้า อาจนำไปสู่การตั้งธนาคารเซเว่นฯในอนาคต เช่นเดียวกับธนาคารเซเว่นฯในญี่ปุ่นนั้น แต่ตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติว่าจะออกใบอนุญาติให้หรือไม่ และคงไม่ง่าย

“หากเซเว่นฯจะเป็นแบงก์ ต้องได้ใบอนุญาติจากแบงก์ชาติก่อน และการที่จะได้ใบอนุญาติมานั้น มีหลายอย่างที่เซเว่นฯต้องทำ ซึ่งไม่ใช่แค่การรับฝากและถอนเงิน”

เท่าที่ไล่เรียงมานี้ จะเห็นว่าการให้บริการรับฝากและถอนเงินของร้านเซเว่นฯ ในฐานะ “แบงก์กิ้งเอเยนต์” แม้จะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของร้าน

แต่ผลในทางปฏิบัติอาจได้ไม่คุ้มเสีย

เพราะคนใช้บริการยังเสียค่าบริการที่แพงอยู่ ถ้าเกิดการเออร์เรอร์ในการคีร์ข้อมูล เซเว่นฯจะรับผิดชอบอย่างไร และจัดการปัญหาให้ลูกค้าได้เร็วแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ยังเป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัด 

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า