“บีทีเอส-พันธมิตร” ยื่นน.ส.แสดงเจตจำนงขอกู้เงิน 5 แบงก์ใหญ่ 1.25 แสนล้านบาท รับลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะที่ กนอ.เตรียมเปิดประมูลท่าเรือมาบพาพุดต้นปีหน้า
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า กลุ่มพันธมิตรบีเอสอาร์ ซึ่งประกอบด้วย BTS บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) จะสรุปรายชื่อพันธมิตรที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้านบาท ภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนยื่นข้อเสนอลงทุนกับภาครัฐในวันที่ 12 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ กลุ่มบีเอสอาร์อยู่ระหว่างเตรียมการในด้านต่างๆ และได้ขอหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ในการกู้เงินจาก 5 ธนาคารใหญ่เป็นวงเงิน 1.25 แสนล้านบาท
นายคีรี ยังระบุว่า ขณะนี้กลุ่มปตท.และบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ยังไม่ได้แสดงความต้องการร่วมทุนกับกลุ่มบีเอสอาร์ แต่หากกลุ่มบีเอสอาร์เป็นผู้ชนะประมูล และกลุ่มปตท.สนใจจะเข้าร่วมทุนภายหลังก็ยินดี ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มปตท.มีข้อจำกัด เพราะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสันและศรีราชานั้น ธุรกิจในกลุ่มบีทีเอส คือ บมจ.ยูซิตี้ (U) และพันธมิตรอย่าง บมจ.แสนสิริ (SIRI) สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว
นายคีรี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้นายกฯประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานประกอบตัวรถไฟฟ้าในประเทศไทย ว่า การลงทุนตั้งโรงงานประกอบ จะต้องดูความต้องการรถไฟฟ้ามีต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งหากความต้องการรถไฟฟ้ามีมาก ทางบีทีเอสก็สนใจลงทุน
ด้านน.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 5.54 หมื่นล้านบาท ในวันนี้ (5 ต.ค.) ซึ่งมีเอกชนเข้าร่วมแสดงความเห็นกว่า 100 ราย ว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำความเห็นทั้งหมดไปประมวลเพื่อปรับปรุงร่างทีโออาร์ประมูล
ทั้งนี้ กนอ.จะประกาศหนังสือชี้ชวนเอกชนที่สนใจลงทุนโครงการดังกล่าวภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมทุนในเดือนม.ค.2562 คาดว่าจะได้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในเดือนก.พ.2562
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีพื้นที่ทั้งโครงการกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งจะมีการลงทุนท่าเรือก๊าซบนเนื้อที่ 200 ไร่ ท่าเรือของเหลวบนเนื้อที่ 200 ไร่ และคลังสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเป็น 10.8 ล้านตัน/ปี และสินค้าเหลวเป็น 4 ล้านตัน/ปี
