สนข.แจง “ญี่ปุ่น” ไม่ถอนตัวลงทุนรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพ-เชียงใหม่” พร้อมดันโมเดลรถไฟความเร็วสูง “เท็กซัส” เปิดทางญี่ปุ่น-ไทย ร่วมลงทุน
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกรณีที่มีกระแสข่าวว่าญี่ปุ่นยกเลิกแผนเข้าร่วมดำเนินการโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กับฝ่ายไทย ว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ยกเลิก โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายมีการตั้งคณะทำงานไทย-ญี่ปุ่น เพื่อเร่งศึกษาโครงการให้ได้ข้อสรุปอย่างรอบคอบ และเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
นายสราวุธ ระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงสนใจจะร่วมพัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และยินดีสนับสนุนโครงการในรูปเงินกู้แบบพิเศษที่มีดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ แทนการเข้าร่วมลงทุนกับฝ่ายไทยในสัดส่วน 50/50 เพราะญี่ปุ่นมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้เสนอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุน แต่ปรับลดสัดส่วนลงทุนเป็น 70/30 หรือ 80/20 ซึ่งทางญี่ปุ่นยังไม่มีข้อสรุป และทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันต่อไป
“ในการหารือครั้งล่าสุด ฝ่ายไทยเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาใช้รูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเท็กซัส ประเทศสหรัฐ เมื่อปี 2558 ที่ลงทุนผ่าน Japan Oversea Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) ซึ่งคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น จะศึกษาและหารือในรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการนี้โดยเร็วต่อไป”นายสราวุธกล่าว
นายสราวุธ กล่าวว่า ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นร่วมศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่ พ.ย.2560 และปัจจุบันทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนโครงการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีรายละเอียดหลายประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและการซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยยังยืนยันว่าฝ่ายญี่ปุ่นควรร่วมพิจารณาลงทุนกับฝ่ายไทย เนื่องจากผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สรุปว่า ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่รอบสถานี (TOD) ร่วมด้วย
“หากจะให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่รอบสถานีด้วย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่น และทางญี่ปุ่นเองก็ยังสนใจที่จะร่วมลงทุนกับไทยในส่วนนี้”นายสราวุธกล่าว