“แท็กซี่เหมาจ่าย” ส่อแท้ง “กม.ไม่เอื้อ-คนขับเมิน-คนนั่งบ่นแพง”

วิจารณ์กันสนั่นเมือง เมื่อสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ จะร่วมมือกับ บริษัท มาย แท็กซี่ จำกัด เปิดให้บริการรถแท็กซี่ “เหมาจ่าย” รายเดือนๆละ 12,000 บาท/คน รับ-ส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพและปริมณฑลแบบ “ไม่จำกัด” เที่ยววิ่ง และแถมน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพอีก 6 ขวด ตั้งเป้าเปิดให้บริการปีหน้า

แต่ไม่ทันไร กรมการขนส่งทางบก ก็ออกมาเหยียบเบรกแนวคิดของแท็กซี่กลุ่มนี้ โดยระบุว่า ผิดกฎหมาย

พร้อมทั้งขยายความว่า หากเป็นรถแท็กซี่มิเตอร์ จะต้องเก็บค่าโดยสารตามมิเตอร์ และเก็บค่าโดยสารในอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่หากผู้ประกอบการต้องการให้บริการแบบเหมาจ่าย จะต้องไปจดทะเบียนใหม่เป็นรถเช่า รถลีมูซีน หรือรถบริการธุรกิจ (รถป้ายเขียว) แทน

แม้ว่าคนจุดประเด็นอย่าง “วรพล แกมขุนทด” นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ จะชี้แจงเพิ่มเติมว่า การให้บริการลักษณะนี้ไม่ใช่การเหมาจ่าย แต่เป็นรูปแบบการขายสิทธิ์เดือนละ 12,000 บาท แลกกับการใช้บริการรถแท็กซี่ 3 เที่ยว/วัน หรือ 90-93 เที่ยวต่อเดือน

“การให้บริการลักษณะนี้ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ใช่การจ้างเหมา และจะมีการกดมิเตอร์ทุกครั้งที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารไม่ต้องจ่ายเงินตรงกับคนขับแท็กซี่ เพราะเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้ารายเดือนผ่านบริษัทตัวกลาง”วรพลระบุ

วรพล แกมขุนทด

วรพล มองว่า แนวคิดนี้น่าจะได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งต้องใช้บริการรถแท็กซี่เป็นประจำ เพราะไม่ต้องมีภาระค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษารถ และค่าจอดรถ ฯลฯ ในขณะที่ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ทันที

ทว่าต่อมา “พีระพล ถาวรสุภเจริญ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้สัมภาษณ์ โดยยืนยันว่า รถแท็กซี่ทุกคันจะต้องกดมิเตอร์ทุกคัน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากไม่ปฏิบัติตามจะลงโทษสูงสุด คือ ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ฐานไม่ใช้มิเตอร์ และหากพบว่าทำผิดซ้ำๆ จะต้องพักใช้ใบอนุญาต

“หากผู้โดยสารพึงพอใจที่จะใช้อัตราเหมา และไม่มีการร้องเรียนเข้ามา กรมฯก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพียงแต่อยากแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย และหากใครพบก็ขอความร่วมมือแจ้งต่อกรมฯ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย”พีระพลกล่าว

ในขณะนี้ท่าทีของกรมการขนส่งทางบก คล้ายๆจะปิดประตูไอเดียการให้บริการรถแท็กซี่แบบเหมาจ่าย ทางฝั่งผู้ใช้บริการรถแท็กซี่เอง ก็ดูเหมือนจะไม่ตอบรับแนวคิดนี้ โดยเฉพาะกับราคาเหมาจ่ายสูงเกินไป

“กันยภัทร สวัสดิเกียรติ” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ส่วนตัวใช้บริการแท็กซี่บ่อยแต่ไม่ได้ใช้เป็นประจำทุกวัน สะดวกกับการใช้บริการแล้วจ่ายทันที มากกว่าการจ่ายเป็นก้อนใหญ่เดือนละ 12,000 บาท และมองว่าการเหมาจ่ายรายเดือนจะเป็นการผูกมัดตัวเองเกินไป

“การเหมาจ่ายดูจะผูกมัดตัวเองเกินไป และวันๆก็ต้องมานั่งคำนวณอีกว่าที่ใช้ไปคุ้มหรือไม่คุ้ม ขาดทุนไม่ แต่เคยมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง บ้านกับที่ทำงานอยู่ไกลกันมาก ค่าแท็กซี่ไปกลับวันละ 500-600 บาท สำหรับไลฟ์สไตล์แบบนี้ ก็น่าจะคุ้มอยู่ ส่วนคนบ้านใกล้อย่างเราเรียก GrabTaxi ดีกว่า”กันยภัทรบอก

ส่วน กัณฐมณี พิสิษฐ์บรรณกร นักศึกษาปี 4 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน บอกว่า ราคาเหมาจ่ายแท็กซี่เดือนละ 12,000 บาท ถือว่าแพงเกิน เพราะหากเก็บเงินเพิ่มอีกแล้วนำไปดาวน์รถใหม่ ค่าผ่อนจะตกอยู่ที่เดือนละ 7,000-8,000 บาท

“ค่าเหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท แพงเกินไป ซึ่งเงินระดับนี้ใช้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถได้สบายๆ อีกอย่างรถแท็กซี่ที่ให้บริการเหมาจ่าย ใครจะให้ความมั่นใจได้ว่าปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่มาขับเป็นใคร บางคนมาขับเป็นอาชีพเสริมแล้วจะไว้ใจได้อย่างไร” กัณฐมณีกล่าว

สอดคล้องกับผู้ใช้บริการรถแท็กซี่รายหนึ่งที่เห็นว่า หากต้องจ่ายค่าบริการแท็กซี่เหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท จะเทียบได้กับค่าผ่อนรถใหม่ได้คันหนึ่งเลย หากจะต้องจ่ายค่าแท็กซี่สู้นำเงินไปผ่อนรถใหม่ไม่ดีกว่าหรือ เพราะค่าผ่อนรถอย่างมากก็เดือนละ 8,000-9,000 บาท

และสำหรับคนที่ทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ หรือ 1 เดือน ทำงาน 22 วันด้วยแล้ว หากค่าบริการอยู่ที่เดือนละ 12,000 บาท จะคิดเป็นค่าบริการเฉลี่ยวันละ 545 บาท หรือเที่ยวกลับเที่ยวละ 272 บาท ถือว่าแพง

ในขณะที่ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่บางส่วน ให้มุมมองว่า หากรถแท็กซี่ไปวิ่งให้บริการแบบเหมาจ่ายกันมาก จะทำจำนวนรถแท็กซี่ขาจรน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการปฏิเสธผู้โดยสารสูงขึ้นมากกว่าทุกวันนี้

รถแท็กซี่ที่ให้บริการผู้โดยสารย่านถนนแจ้งวัฒนะ

แต่หากมาฟังทางฝั่งคนขับแท็กซี่กันบ้าง หลายคนมองว่าไม่คุ้ม และต้องคอยพะวงรับส่งผู้โดยสารตลอดเวลา ซึ่งไม่เป็นอิสระ

สมหมาย มนฑาพงษ์ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเวลากว่า 13 ปี กล่าวว่า เพิ่งได้ยินข่าวเรื่องแท็กซี่เหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท/คน ซึ่งตนเองไม่สนใจร่วมโครงการนี้เลย เพราะรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายรายเดือน และยังต้องมาคอยพะวงรับส่งผู้โดยสารตลอดเวลาอีก

“แต่ละเดือนผมมีค่าผ่อนรถ 17,000 บาท และจ่ายค่าแก๊สอีกวันละ 400-500 บาท ไหนจะค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆอีก ถ้าให้ไปรับเงินแบบเหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท/คน เอาแค่รับส่ง 3 คน ก็แค่ 36,000 บาท อย่างไรก็ไม่พอรายจ่าย และถ้ามีลูกค้าเหมาจ่าย 3 คน ถามว่าใครจะไปรับส่งได้ทุกคนตามที่เรียก เพราะอย่าลืมว่าในเมืองรถติดตามมาก”สมหมายกล่าว

สมหมาย ยังบอกว่า ตอนนี้ตนเองวิ่งรถบางเที่ยวก็ได้ 200-300 บาทอยู่แล้ว และตนเป็นสมาชิกของ GrabTaxi ซึ่งก็มีลูกค้าเรียกใช้ผ่านแอปฯอยู่แล้ว และเป็นอิสระกว่าด้วย เพราะเลือกที่จะไปรับไปส่งผู้โดยสารตอนไหนก็ได้ และยังได้ค่าบริการเพิ่มจากค่ามิเตอร์ ครั้งละ 20 บาท โดยเงินจะโอนมาให้ทันทีเมื่อส่งผู้โดยสารแล้วเสร็จ

ส่วนผู้ขับขี่แท็กซี่อีกราย ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ กล่าวว่า ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการแท็กซี่เหมาจ่าย เพราะถ้าให้ขับรถไปรับ-ส่งผู้โดยสารตลอดเวลา เรียกเมื่อไหร่ก็ต้องไปรับ อย่างนี้ทำให้รู้สึกพะวงและไม่อิสระ อีกทั้งอัตราเหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท/คน ก็ไม่คุ้ม เพราะปกติวิ่งรถได้เงินวันละ 1,700-1,800 บาท หรือตกเดือนละ 4-5 หมื่นบาทอยู่แล้ว

ในขณะที่ “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้มุมมองแตกต่างไปว่า การให้บริการรถแท็กซี่เหมาจ่ายเดือนละ 12,000 บาท และรับส่งทุกที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ถือเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเรื่องรถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของสัญญาการให้บริการ จะต้องเป็นธรรมและมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องกำหนดว่าเมื่อเรียกแล้ว รถจะต้องมาถึงภายในกี่นาที และที่บอกว่าไม่จำกัดเที่ยวนั้น ทำได้จริงหรือไม่ และหากทำไม่ได้ ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่ารับส่งกี่เที่ยว/วัน

ที่สำคัญเพื่อให้รถแท็กซี่มีเพียงพอกับผู้โดยสาร ผู้ให้บริการจะต้องจำกัดจำนวนสมาชิกผู้โดยสาร เพราะการบริการรูปแบบนี้ เรียกได้ว่าคนขับแท็กซี่แทบจะต้องอยู่กับผู้โดยสารตลอดทั้งวันทั้งคืน คือ เรียกเมื่อไหร่ก็ต้องมา ไม่ว่าจะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หรือดึกแค่ไหนก็ต้องมา

“สัญญาต้องระบุให้ชัดเจนว่า เมื่อเรียกรถแล้ว รถต้องมาภายในกี่นาที เช่น ถ้าไม่เกิน 30 นาที ก็ไม่ต้องเกินนั้น ไม่ใช่ว่ามาถึงเมื่อไหร่ก็ได้ หรือถ้าเรียกแล้ว รถไม่มาหรือมาไม่ทันตามเวลาที่กำหนด บริษัทจะต้องมีมาตรการเยียวยาด้วย และถ้าบริษัทไม่เยียวยา หน่วยงานใดต้องเข้าไปดูแลผู้โดยสารส่วนนี้” สารี ระบุ

สารี มองว่า หน่วยงานภาครัฐไม่ควรปิดกั้นการให้บริการผู้โดยสารรูปแบบใหม่ๆ และควรลงมาเป็นผู้กำกับดูแลตรงนี้ ทั้งการคุ้มครองไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และมีมาตรการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ไม่ใช่พอมีบริการรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น พอภาครัฐตามไม่ทัน ก็สั่งห้ามทันทีเลย

เมื่อฟังเสียงของผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่ รวมถึงการมีอุปสรรคในข้อกฎหมาย เป็นไปได้สูงว่าไอเดีย “แท็กซี่เหมาจ่าย” น่าจะแท้งตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า