“ออมสิน” เผยผลสำรวจ พบปชช.ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 1.5 หมื่นบาท เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีการออม เหตุไม่มีเงินเหลือพอให้ออม
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้ทำการวิจัยและสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 2,150 ตัวอย่าง เนื่องในโอกาสวันออมแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยพบว่า ประชาชนฐานราก ร้อยละ 32.2 เท่านั้น ที่มีเงินออม
โดยประชาชนฐานรากที่มีเงินออมดังกล่าว ส่วนใหญ่หรืออยละ 56.9 ของผู้ที่มีเงินออม เป็นการออมแบบรายเดือน และจำนวนเงินออมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/เดือน
เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์การออม พบว่า อันดับ 1 เป็นการออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย คิดเป็นร้อยละ 71.7 อันดับ 2 เป็นการออมเพื่อสำรองไว้ใช้ คิดเป็นร้อยละ 67.0 และอันดับ 3 เป็นการออมเพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 39.3
“เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากที่มีการออมเพื่อใช้ยามเกษียณมีเพียง ร้อยละ 23.5 เมื่อสำรวจลักษณะการออมและการลงทุนที่มีในปัจจุบันของประชาชนฐานราก พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการออม/การลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 80.3 เก็บไว้ที่บ้าน/ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 22.9 และเล่นแชร์ คิดเป็นร้อยละ 8.5”นายชาติชายกล่าว
เมื่อถามถึงเป้าหมายเป้าหมายการออม/การลงทุนในอนาคต พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.2 มีการตั้งเป้าหมายที่จะออมเงิน/ลงทุน โดยเป้าหมาย 3 อันดับแรก ได้แก่ สำรองไว้ยามฉุกเฉิน คิดเป็นร้อยละ 29.7 เพื่อการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 29.1 และใช้จ่ายยามเจ็บป่วย คิดเป็นร้อยละ 27.5
ขณะที่อุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถออมเงินได้ คือ อันดับ 1 ไม่มีเงินเหลือไว้ออม คิดเป็นร้อยละ 52.3 อันดับ 2 มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน คิดเป็นร้อยละ 24.2 และอันดับ 3 มีภาระหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ18.6
“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนฐานรากไม่สามารถเก็บออมได้ คือ ไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บออม ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามแก้ไข และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ และการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”นายชาติชายกล่าว
เมื่อสอบถามถึงช่องทางในการทำธุรกรรมการฝากเงินพบว่า 3 อันดับแรกคือ สาขาของธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 89.8 เครื่องฝากเงินสด คิดเป็นร้อยละ 68.8 และMobile/Internet Banking (ฝากโอน) คิดเป็นร้อยละ 18.4 ซึ่งสะท้อนว่า กลุ่มคนฐานรากยังคงนิยมใช้บริการผ่านบุคคลที่สาขาของธนาคาร
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนฐานรากกับ “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 92.3 คิดว่าการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า/รายปีของการใช้บัตร ATM ช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีเงินออม และไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.7 เห็นว่าไม่ควรกำหนดเรื่องเกณฑ์อายุ เกณฑ์รายได้ และควรจ่ายดอกเบี้ยพิเศษกว่าปกติ เป็นต้น
นายชาติชาย ยังกล่าวว่า ภาพรวมการออมของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 การออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 12.9 หรือคิดเป็นร้อยละ 34.8 ของจีดีพี ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ โดยประชาชนมีการออมในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินฝาก สลากออมทรัพย์พันธบัตร และประกันชีวิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ คาดว่า ในระยะต่อไป ตัวเลขการออมของประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ข้อมูล ณ เดือน ส.ค.2561 พบว่า เงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงินอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 13.2 ล้านล้านบาท และธนาคารเฉพาะกิจ 4.7 ล้านล้านบาท