“30 บาท รักษาทุกโรค” งบพุ่งทุกปี ประเทศเสี่ยงเป็น “โรคถังแตก”

สมรภูมิการเมืองบนโลกออนไลน์เดือดปุดๆ ก่อนจะลามสู่โลกความจริง เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. โหมโรงรุกพีอาร์ผลงานผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี และเว็ปไซด์ส่วนตัว เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทว่าคล้อยหลังไม่ถึง 24 ชั่วโมง “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โจมตีรัฐบาลด้วยท่วงทำนองดุดัน ว่า กำลังทำให้คนไทยไม่เท่ากัน โดยให้ผู้ที่ถือ “บัตรคนจน” รักษาฟรี กลายเป็นเรื่อง “แบ่งแยกคนจนคนรวย” ย้อนกลับไปเหมือนยุค “บัตรอนาถา” เมื่อปี 2518

“มิใช่เรื่องที่ใครจะพยายามเอาเรื่องการรักษาฟรีไปหาเสียงอย่างผิดๆ” โพสต์ของสุดารัตน์ระบุ

ข้อความบนเฟซบุ๊กคุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2561

ร้อนถึง “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ที่ต้องออกมาตอบโต้อย่างทันควัน ว่า รัฐบาลนี้ไม่เคยแบ่งแยกประชาชน มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มบางคน ที่ชอบใช้วาทกรรมแบ่งแยกคนรวยคนจน ให้เกิดความขัดแย้ง

พร้อมทั้งระบุว่า มติ ครม.ที่ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรักษาฟรีนั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ซึ่งไม่ได้มีผลต่อสิทธิรับการรักษาฟรีที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด

และด้วยถ้อยวลี “แบ่งชนชั้นรวยจน” ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยงัดออกมาขยี้ใจมวลชน ก็เพียงพอที่จะทำให้ “บิ๊กตู่” ออกอาการหงุดหงิด สั่งเปลี่ยนชื่อ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ถูกเรียกขานว่า “บัตรคนจน” ไปเป็น “บัตรความสุข” หรือชื่อบัตรอะไรก็ได้ที่ฟังดูดีกว่านี้ พร้อมกับย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการแบ่งแยกชนชั้น

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่ทำเนียบรัฐบาล 16 ต.ค.2561

เอาเข้าจริงทั้งรัฐบาลและคุณหญิงสุดารัตน์ ต่างก็รู้แก่ใจดีว่า การหยิบยกประเด็นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” มาสาดใส่กัน ก็เพื่อหวังผลทางการเมืองก่อนเลือกตั้ง ในขณะที่ปัญหาที่แท้จริงของโครงการนี้ ถูกซุกไว้ไต้พรมและยังไม่มีแสงสว่างปลายอุโมงค์

กว่าจะมาถึงวันนี้ ประเด็นการเก็บหรือไม่เก็บ 30 บาท จะรักษาฟรีหรือไม่ฟรี ในโครงการบัตรทอง เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอด และหากย้อนไปดูจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสาระการเก็บ “เงิน 30 บาท” อยู่ 3 ครั้ง

ครั้งแรกปี 2550 ในสมัยรัฐบาลรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  หรือรัฐบาล “ขิงแก่” นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น ประกาศยกเลิกการร่วมจ่าย 30 บาทจากผู้ป่วย หลังจากเก็บเงิน 30 บาทมาตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2545 เนื่องจากมองว่าสร้างภาระให้ผู้ป่วย และเงินที่เก็บได้ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การยกเลิกเก็บเงิน 30 บาทครั้งนั้น และเปลี่ยนเป็น “รักษาฟรีทุกโรค” เป็นเพราะรัฐบาลสมัยนั้นต้องการ “ลบล้างภาพ” โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นแบรนด์หาเสียงของ “พรรคไทยรักไทย” ที่ถูกสั่งยุบพรรค และแปลงร่างเป็นพรรคพลังประชาชนในเวลาต่อมา

ครั้งที่สอง เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งใหญ่ในปี 2553 และมีการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาในปี 2555 วิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น ประกาศเก็บเงิน 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้ง เพราะมองว่าหากไม่เก็บค่าบริการเลย จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากเกินไปและเกิดความฟุ่มเฟือย

แต่กำหนดประชาชน 21 กลุ่ม ไม่ต้อง “ร่วมจ่าย 30” เช่น เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี , ผู้ที่อายุเกิน 60 ปีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น อีกทั้งให้รวมถึง “กลุ่มบุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ” ซึ่งเท่ากับว่า หากใครไม่ต้องการ “ร่วมจ่าย 30” ก็ทำได้

 

ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.2561 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 11.4 ล้านคน เข้ารับการรักษาพยาบาลผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง โดยไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว

ส่วนเงินที่นำมาชดเชยรายได้ 30 บาท/คน ที่หายไปนั้นหรือประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี จะนำมาจาก “กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งในปีงบ 2562 รัฐบาลได้จัดสรรงบให้กองทุนฯ 4 หมื่นล้านบาท

จึงเท่ากับว่า ทุกวันนี้ ทั้งคนที่มีบัตรสวัสดิการฯ และคนไม่มีบัตรสวัสดิการฯ แทบจะไม่ต้องจ่ายเงิน 30 บาท เพื่อเข้ารับการรักษาในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอยู่แล้ว ดังนั้น บัตรสวัสดิการฯ จึงไม่ใช่ “บัตรอนาถา” ที่ให้ไว้แก่คนยากจนเพื่อแสดงบัตรก่อนจะใช้สิทธิรักษาฟรี เหมือนเช่นในอดีต

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลต้องจัดสรรงบให้กับโครงการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีงบ 2560 งบบัตรทองอยู่ที่ 1.69 แสนล้านบาท และมีอัตราเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,109 บาท/คน เทียบกับปี 2545 ที่งบบัตรทองอยู่ที่ 5.14 หมื่นล้านบาท และมีอัตราเหมาจ่ายรายหัวที่ 1,202 บาท/คน

ล่าสุดปีงบ 2562 งบบัตรทองพุ่งขึ้นเป็น 1.8 แสนล้านบาท และอัตราเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,426 บาท/คน และจะแตะระดับ 2 แสนล้านบาทในเร็วๆนี้

หากนับเป็นแง่ตัวเงินจะพบว่างบบัตรทองเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว แต่หากพิจารณาในแง่งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว  ในช่วงเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี

แต่นั่นก็ไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งขาดทุนหนัก และปรากฎภาพผู้ป่วยแออัดยัดเยียดในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อต่อคิวรับการตรวจรักษาเป็นวันๆ ให้เห็นกันชินตา

ในขณะที่ ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่าในปี 2565 งบบัตรทองจะเพิ่มเป็น 2.45 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 4.5 แสนล้านบาทในปี 2580

คาดการณ์งบบัตรทอง ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล 18 ม.ค.2561หน่วย :ล้านบาท

แม้ว่ารัฐบาลจะไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และพยายามลดวิธีภาระการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุนโครงการบัตรทอง โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ…

โดยจะเรียกเก็บเงินจากการขายบุหรี่ซองละ 2 บาท เพื่อนำเงินมาสมทบโครงการบัตรทองปีละ 3,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่เพียงพอกับงบบัตรทองที่ในช่วงปีหลังเพิ่มขึ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท

การลดภาระงบโครงการบัตรทองที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยังคงไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมในขณะนี้ หากปล่อยไว้นานวัน คงไม่แคล้วที่ภาวะการเงินการคลังของประเทศเสี่ยงเป็น “โรคถังแตก” ในขณะที่วาทะกรรม “บัตรคนจน” แบ่งแยกชนชั้น รักษาฟรีหรือไม่ฟรี ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้แต่น้อย

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า