บ่ายวันนี้(4 ก.พ. 63) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน มอบหมายให้นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมการแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด เพื่อรองรับภัยแล้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมลงนามข้อตกลง(MOU) ระหว่างกรมชลประทานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด โดยมี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับข้อตกลง(MOU) การแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดไปยังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และการจัดทำ CSR ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุน EEC สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่พื้นที่สำคัญของประเทศ ทางด้านเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
สำหรับระบบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ ประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ และกลุ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา ความจุรวมประมาณ 894 ล้าน ลบ.ม. โดยมีระบบท่อผันน้ำเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อเชื่อมโยงปริมาณน้ำจากจังหวัดระยองไปยังจังหวัดชลบุรี
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการโครงการเชื่อมโยงระบบอ่างเก็บน้ำ ในลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ผ่านระบบผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด-ประแสร์ ตั้งอยู่บริเวณคลองวังโตนด บ้านกังประดู่ อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ความยาวท่อ 45.69 กม. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.625 ลบ.ม.ต่อวินาที รวม 5 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. ในขณะที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด มีปริมาณน้ำท่ารายปีประมาณ 1,237 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ โดยปัจจุบัน

กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ด้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EHIA)ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะเริ่มโครงการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 หากแล้วเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนจากอ่างฯ 4 แห่ง รวมกันประมาณ 308.5 ล้าน ลบ.ม.
กรมชลประทาน มุ่งมั่นพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อันจะช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำและร่วมพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน