สูดดมควันธูปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง ‘มะเร็งปอด‘ เทียบเท่าการสูดดมควันจากบุหรี่
สำหรับสายมูเตลูแบบเรา ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงต้องเคยดมกลิ่มธูปเป็นระยะเวลานานอย่างแน่นอน และการจุดธูปเพื่อไหว้พระ หรือแสดงความเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นประเพณีของคนไทยมาอย่างช้านาน แต่เชื่อหรือไม่ว่า การจุดธูปในแต่ละครั้งนั้นจะปล่อยฝุ่นละอองและมลพิษมากมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นก่อให้เกิดการระคายเคืองตา ระบบทางเดินหายใจ หรือไปถึงก่อให้เกิดมะเร็งได้เลยทีเดียว
สารอันตรายที่อยู่ในธูป
ในธูปนั้นมีสารมลพิษหลายชนิดที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคือง ปวดศรีษะ และอาจหมดสติได้หากสูกดมในระยะเวลานาน
อีกทั้งยังมี สารเบนซีน (Benzene) 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) เบนโซเอไพรีน (Benzo(a)pyrene) สาร 3 ชนิดนี้เกิดจากการเผาไหม้ของกาว ขี้เลื่อย และน้ำหอมจากธูป ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มะเร็งปอด
มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง

มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาดเซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
- บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
- การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
- อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้อีก
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY