พามารู้จักโรคใหม่! ปวดบวมแดงร้อน มือ-เท้าบวม “เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)” อาจรุนแรงถึงกระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิต
หลายๆ คนคงสงสัยว่าสาเหตุของอาการ มือบวม เท้าบวม บวมแดง ปวด หรือร้อนบริเวณที่มีการติดเชื้อ นั่นคือ “เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)” นั่นเองบางรายอาจมีไข้หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในกรณีที่รุนแรง การติดเชื้ออาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย

สาเหตุของ Cellulitis
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่พบได้บ่อย คือ สเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) และสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus)
- เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น มีรอยตัด รอยแตก แผลไฟไหม้ เป็นต้น
- เป็นโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ น้ำกัดเท้า เป็นต้น
- มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐาน
- มีประวัติเคยเป็น Cellulitis มาก่อน
- ได้รับยาผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือดดำโดยตรง
- เป็นโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น เลือดไปเลี้ยงแขนและขาไม่เพียงพอ เส้นเลือดขอด ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่ดี เป็นต้น
- เป็นโรคหรือภาวะที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเบาหวาน การใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น
อาการของ Cellulitis
- บวม แดง และมีแนวโน้มขยายเป็นบริเวณกว้าง
- มีไข้
- มีอาการปวดภายใน 1-2 วันแรกที่เริ่มเกิดอาการ และเจ็บเมื่อถูกกดหรือสัมผัสโดนบริเวณนั้น
- รู้สึกอุ่นหรือร้อนบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ
- เกิดแผล หรือมีผื่นขึ้นบริเวณที่เกิดอาการ และอาจขยายตัวลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
- เกิดรอยบุ๋มบริเวณผิวหนัง
- ปวดกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ หากมีอาการต่อไปนี้ร่วมกับอาการข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะเชื้ออาจแพร่กระจายสู่ส่วนอื่น หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือดจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- มีไข้สูง หนาวสั่น ตัวซีด
- ผิวมีสีม่วงขึ้นเป็นหย่อม ๆ
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
- ร่างกายไม่ตอบสนอง หรืออาจหมดสติ
การป้องกัน Cellulitis
- ไม่แกะหรือเกาผิวหนัง เพราะบางครั้งการเกาสามารถทำให้เกิดแผลได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผิวหนังมักจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อมากขึ้น
- หากมีผิวแห้งควรใช้ครีมทาบำรุงผิว เพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้นและไม่เสี่ยงต่อการแห้งแตกจนทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บและการเกิดแผลทุกครั้งที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์แหลมคม เล่นกีฬาที่มีการปะทะ เป็นต้น
- ผู้ที่มีบาดแผลควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกวัน โดยใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์สะอาดปิดแผลไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลตามผิวหนัง
แหล่งที่มา Pobpad
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY