รู้หรือไม่ ! พฤติกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการและสัญญาณเตือนอย่างไร? สามารถรักษาได้หรือไม่? เช็กเลย!
หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติกับหัวใจ ร่างกายมักจะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติ อย่าง โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งประเทศไทยพบว่า 45% ของการเสียชีวิตเฉียบพลันเกิดจาก โรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นเราควรต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะการทราบถึงสัญญาณเตือนดังกล่าว จะช่วยให้รักษาชีวิตอย่างทันท่วงที
โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากอะไร?
เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตันโดยส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้นเนื่องจากมีไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้นทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หากรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิด โรคหัวใจขาดเลือด
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- สูบบุหรี่จัด
- เครียดเป็นประจำ
- เพศชาย อายุ 45 ปีขึ้นไป
- เพศหญิง อายุ 55 ปีขึ้นไป
- มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- รับประทานอาหารไขมันสูง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- ประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
อาการและสัญญาณเตือน
- อาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด หรือกดทับ
- อาการเจ็บหน้าอกปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย หัวไหล่
- เหงื่อออก จะเป็นลม หน้าซีด
- อาการใจสั่น หอบเหนื่อย คลื่นไส้
- จุกบริเวณคอหอย ซึ่งบางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่
โดยในหลายๆครั้ง อาการเหล่านี้ แทบจะแยกจากโรคอื่นๆ ซึ่งอาจมีอาการคล้ายกันได้ลำบาก เช่น อาจทำให้สับสนกับโรคกรดไหลย้อน หรือกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบได้ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจหากมีอาการดังกล่าว
ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงถือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการของตัวเองเป็นพิเศษ เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องรีบเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
แนวทางการรักษา
- การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตโดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่สำคัญ
– ลดหรือเลี่ยงการสูบบุหรี่
– ควบคุมความดันโลหิต และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
– รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลอย่างเหมาะสม
– ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ
– ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์
– บริหารอารมณ์ให้แจ่มใสห่างไกลความเครียด
– ตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี - การรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรง
– ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดเข้ากับผนังของหลอดเลือดแดง
– ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น
– ยาเพื่อใช้สลายลิ่มเลือดที่อุดกั้นหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
– ยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ
– ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
- การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยบอลลูน
– การใช้สายสวนหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่โคนขาหรือข้อมือ เข้าไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจที่ตีบและขยายหลอดเลือดจะได้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น
- การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยบอลลูน
– การรักษาโดยการผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจใหม่โดยการใช้หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำที่ขามาต่อหลอดเลือดหัวใจ

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ , โรงพยาบาลนครธน
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY