เตือนภัย! โรคยอดฮิตหน้าร้อนควรระวัง โรคลมแดด Heat Stroke อาการเป็นยังไง สาเหตุเกิดจากอะไร และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หน้าร้อนปีนี้บอกเลยว่าเดือด เพราะ กรมอุตุนิยม คาดการ์ณไว้ว่าอุณหภูมิหน้าร้อนประเทศไทยจะสูงถึง 43 องศาเซลเซียล มันร้อนไปไหม? แน่นอนว่าอุณหภูมิสภาพแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพอยู่แล้ว ถ้าฤดูหนาวจะต้องระวังในเรื่องของการเป็นหวัด ไข้ ไข้หวัดใหญ่ ฤดูฝนจะเป็นพวก ไข้เลือดออก ไข้หวัด และแน่นอน ฤดูร้อนต้องระวังโรคนี้เลย “โรคลมแดด” หรือเรียกว่า Heat Stroke นั่นเอง วันนี้จะพามาดูอาการ สาเหตุ และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของโรคนี้กัน

โรคลมแดด
คือภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส เกิดจากการที่อยู่ในสถานที่ที่อุณหภูมิร้อนมากๆ และร่างกายไม่สามารถปรับตัวลดอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท หัวใจ และไต เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคลมแดด
การอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะขณะที่อากาศร้อนชื้น หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกายในสถานที่ที่อากาศร้อน อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เป็นโรคลมแดดได้ง่ายขึ้น เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไปจะทำให้เหงื่อระบายได้ยาก การดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ทานน้ำน้อย เป็นต้น
กลุ่มคนที่มีเสี่ยงเป็นโรคลมแดด
- เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี) เนื่องจากมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ช้า และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย
- ทหารที่ต้องฝึกหนัก หรือ นักกีฬาที่ต้องเล่นกีฬาในที่ที่อุณหภูมิร้อนจัด
- ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น ต้องเดินทางไปประเทศที่อุณหภูมิอากาศร้อนกว่า หรือเจอมรสุมพายุฤดูร้อน
- ผู้ที่ทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิตบางประเภท ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตเวช ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาระบาย ยาบ้า โคเคน
- ผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน หรือเคยเป็นโรคลมแดดมาก่อน
อาการของโรคลมแดด
อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ลุกลี้ลุกลน พูดช้า สับสน ชัก เพ้อ หมดสติ ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติไป เช่น อยู่ในสถานที่ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังและหน้าเปลี่ยนเป็นสีออกแดง เหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ปวดศีรษะ หรือไตวาย ปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ เอนไซม์ในกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการควรรีบหลบแดด ย้ายมาอยู่ในที่ร่ม ถอดเสื้อคลุมที่ไม่จำเป็นออก ทำให้ร่างกายเย็นด้วยวิธีต่างๆ เช่น
- รดตัวด้วยน้ำเย็น
- เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นโดยเฉพาะที่บริเวณหลังคอ ข้อพับ และขาหนีบ
- เป่าพัดลมที่มีไอน้ำเย็น เปิดแอร์ ดื่มน้ำ และน้ำเกลือแร่ให้มากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่
วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคลมแดด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายและบาง เพื่อให้ผิวหนังได้มีการถ่ายเทความร้อนออกไปได้ง่ายขึ้น ใช้อุปกรณ์บังแดด เช่น ร่ม หมวกปีกกว้าง แว่นตากันแดด และทาครีมกันแดด
- ดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
- ไม่ควรอยู่ในรถที่จอดกลางแดด อุณหภูมิในรถสามารถขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วถึง 50 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
- ห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถเด็ดขาด หาเวลาพักมาอยู่ในที่ร่มเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่ร้อนสุดคือช่วงกลางวัน
- ถ้าต้องการออกกำลังกายควรออกเวลาที่เย็นที่สุดของวัน คือตอนรุ่งเช้า และตอนเย็น
- ถ้ายังไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน เช่น เพิ่งย้ายมาอยู่ในประเทศที่ร้อนกว่าที่เดิม ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายหนักในระยะแรก จนกว่าร่างกายจะชินกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น
- ถ้าทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคลมแดด เช่น มีโรคประจำตัว สูงอายุ ทานยาที่มีความเสี่ยง ควรสังเกตอาการตนเอง ถ้าเริ่มมีอาการที่เข้าได้กับโรคลมแดด ควรรีบปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้น และรีบไปโรงพยาบาลทันที
แหล่งที่มา กรุงเทพเชียงใหม่
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY