ใครที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้หรือมีคนในเป็นต้องรู้ อันตรายแค่ไหน! โรค ความดันโลหิตสูง คืออะไร? เกิดจากอะไร วิธีการป้องกัน
ภาวะโรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น เปรียบเหมือนฆาตกรเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น ปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ๆ ตาพร่ามัว ซึ่งมักเกินในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดในช่วงอายุไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมด้วย วันนี้ Bright TV พามารู้จัก โรคความดันโลหิตสูง ว่ามันคืออะไร เกิดจากอะไร และสามารถป้องกันยังไงได้บ้าง

ความดันโลหิตสูง คืออะไร?
ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่าในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับนี้นานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อม เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันจะเพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มิลลิเมตรปรอทต่อปี
ชนิดของโรคความดันโลหิตสูง
- ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ กรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ทานอาหารเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น
- ชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
- กรรมพันธุ์ จากการสำรวจความถี่ในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
- เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงก่อนอายุ 50 ปี แต่เมื่ออายุเลย 50 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงเท่ากันทั้ง 2 เพศ
- อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูงมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เนื่องจากการมีน้ำหนักมากร่างกายก็ยิ่งต้องการเลือดไปเลี้ยงออกซิเจนและสารอาหารมากขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง
- ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปสามารถทำลายหัวใจได้เมื่อเวลาผ่านไปและอายุเพิ่มมากขึ้นการที่ผู้หญิงดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหนึ่งแก้วและผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสองแก้วต่อวันอาจเป็นอีกสาเหตุหลักของโรคความดันโลหิตสูง
- กินเค็มเป็นประจำ อาหารที่มีโซเดียมสูงอาจส่งผลให้เกิดการคั่งของของเหลวทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง
- ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมักจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าหัวใจทำงานหนักมากขึ้นในการหดตัวแต่ละครั้ง
- มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน
- การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เพิ่มความดันโลหิตชั่วคราวในทันที แต่สารเคมีที่พบในยาสูบสามารถทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสียหายได้ ซึ่งจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบ แคบและมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจ ควันบุหรี่มือสองจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น
วิธีการป้องกัน
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา หันมาดูแลสุขภาพร่างกาย
- การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด
- เน้นการทานผักและผลไม้ที่ให้สารอาหารโพแทสเซียม เช่น ฟักทอง บรอกโคลี่
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักตัว
- งดการสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา
- ควรรับการตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ
แหล่งที่มา กรมวิทย์
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY