ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อพัฒนาการทางสมองเด็ก โดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน ทำให้ง่วงนอนมากตอนกลางวัน
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ผ่าน Facebook นิธิพัฒน์ เจียรกุล เกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อทารกในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก โดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน ทำให้ง่วงนอนมากตอนกลางวัน

รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ไว้ว่า ในเมื่อประชาชนที่ควรจะเป็นใหญ่ แต่กลุ่มคนที่ไปเป็นใหญ่ เขายังไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พวกเราต้องหันมาดูแลตัวเองเพื่อลดความสูญเสียไปชั่วคราวก่อน พอถึงอีกสองเดือนข้างหน้า จะมีวันหนึ่งเรียกว่าวันเลือกตั้งทั่วไป จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่าพรรคการเมือง ยกยอให้ประชาชนเป็นใหญ่ได้หนึ่งวัน หลังจากนั้นเขาคงถีบหัวเราส่งเช่นเคย แต่พวกเราสามารถรวมตัวกันเปลี่ยนชะตากรรมนี้ได้ เหมือนการดูแลตัวเองในสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ดังนี้หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม
เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์
1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
วิธีป้องกันฝุ่น
- ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง หลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัย
- การออกกำลังกายในร่ม ควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
- การกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้การอยู่ในบริเวณที่มีพืชใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น
ถึงตรงนี้คงต้องท่องคาถา ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน จะไปหวังข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่ใส่เกียร์ว่างรอเลือกตั้ง คงสะบักสะบอมหนักกันไปเสียก่อน ดูคล้ายนักเตะทีมปีศาจแดงที่ถูกกล่าวหาว่าใส่เกียร์ว่างจนโดนคู่ปรับตลอดกาลถล่มยับ แต่ถ้ามองอย่างใจเป็นธรรม พวกเขาคงเหนื่อยล้าต่อเนื่องและต้องแบกรับความคาดหวังสูง ไม่เหมือนนักการเมืองไทยที่ระริกระรี้ทันทีเมื่อเสียงปี่กลองเลือกตั้งเริ่มดังขึ้น
จากการติดตามเด็กอนุบาลจำนวน 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับฝุ่นที่สูงในช่วงอายุ 0-3 ปีจะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงต้องเข้าไอซียูจะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือเด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย (คิดเอาเองว่าอาจได้รับ PM2.5 เพิ่มทางน้ำนมแม่)
รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในฐานะหมอโรคปอดและหมอโรคจากการนอนหลับ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวนโดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมองถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วยว่าแต่จะมีใคร “รู้หน้าที่” ทำเพื่ออนาคตเยาวชนของชาติเราบ้าง”
แหล่งที่มา นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY